ผัดหมี่โคราช

วันที่ 30 ก.ย. 2558

  ผัดหมี่โคราช หรือ คั่วหมี่ [ขั่ว-หมี่] โคราช อาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนครราชสีมา ดังคำกล่าวที่ว่า "มาถึงโคราชไม่ได้กินผัดหมี่โคราช" เรียกว่า "มาไม่ถึงโคราชอย่างแท้จริง" ความพิเศษ "เส้นหมี่โคราช" มีความเหนียวนุ่ม ผัดกับเครื่องสูตรลับเฉพาะของชาวโคราช ด้วยรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยไม่ใส่ ไข่ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง และเต้าหู้ ทำให้ได้ผัดหมี่ที่ไม่เหมือนใคร กินแล้วติดอก ติดใจ ที่ต้องนึกถึง ทั้งทานเอง หรือ เป็นของฝากคนที่รัก

ความเป็นมา

      หมี่โคราช ทำจากข้าวเจ้า ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีการปลูกข้าวเจ้ามาก เพื่อเพิ่มความหลากหลายของอาหาร และเป็นการแปรรูปการถนอมอาหารอีกรูปแบบหนึ่ง จึงมีการดัดแปลงข้าวเจ้ามาเป็นเส้นหมี่ ด้วยการนำเส้นหมี่ไปตากแห้ง แล้วเก็บไว้รับประทาน

เอกลักษณ์เส้นหมี่โคราช

      เส้นแบน สีขาว ขนาดเล็ก ยาว มีความเหนียว นุ่ม และน่ารับประทาน

การผลิต

      หมี่โคราชผลิตในหมู่บ้านทั่วไป และเรียกชื่อตามแหล่งผลิตหมี่ เช่น หมี่ตะคุ จาก บ้านตะคุ อ. ปักธงชัย หมี่กระโทก จาก บ้านกระโทก อ. โชคชัย หมี่พิมาย จาก อ. พิมาย หมี่กุดจิก จาก บ้านกุดจิก อ. สูงเนิน หมี่น้ำฉ่า จากบ้านน้ำฉ่า อ. ขามทะเลสอ และหมี่หนองหัวฟาน บ้านดอนทะยิง ต.หนองหัวฟาน อ.ขามสะแกแสง เป็นต้น โดยหมี่โคราชทำจากข้าวเก่า ข้าวใหม่จะทำให้เส้นหมี่ เส้นไม่สวย เส้นติดกัน เหนียวเกินไป

หมี่โคราช มีการผลิต 2 รูปแบบ

- แบบผลิตในครัวเรือน ผลิตเป็น หมี่สด และหมี่ตากแห้ง ใช้การตากแดดให้เส้นหมี่แห้ง

- แบบผลิตจากโรงงาน ใช้การอบแห้ง

การทำหมี่โคราช แบบผลิตในครัวเรือน

1. การแช่ข้าว นำข้าวสารหักเป็นข้าวเจ้าเก่ามาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ชม. หรือ 1 คืน (ข้าวสารเจ้าที่ใช้จะเป็นข้าวแข็ง หรือ ข้าวตาแห้ง หรือ ข้าวเสาไห้ หากเป็นข้าวเจ้าใหม่ หรือ ข้าวหอมมะลิ เส้นหมี่จะเละ)

2. การโม่แป้ง จากนั้นนำข้าวที่แช่จนนิ่มแล้ว มาโม่ให้ละเอียดเป็นแป้ง โดยใช้เครื่องโม่แป้ง (บางท้องถิ่นจะใส่ข้าวเหนียวปนด้วย รสชาติของหมี่โคราชอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น น่าจะมาจากชนิดของข้าวที่มาทำหมี่ เพราะอาจจะให้ข้าวคนละพันธ์ุกัน)

3. การนึ่งแป้ง นำแป้งมาเทลงบนผ้าที่ขึงบนปากหม้อทรงสูงปากกว้างที่ตั้งบนเตาหมี่ ให้เป็นแผ่นกลม ๆ แล้วปิดฝาไว้สักพักเพื่อนึ่งให้แป้งสุก (ถูให้เรียบเนียนเสมอกัน แผ่นหมี่จะได้สุกเท่ากัน) (เตาหมี่ทำจากดินผสมแกลบ แล้วเอามาปั้นให้เป็นเตา ด้านบนจะใส่กะทะหรือหม้อปากกว้าง ด้านข้างจะเอาไว้ใส่ฝืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิง)

 

4. การตากหมี่ พอนึ่งแผ่นหมี่สุก ใช้ไม้ไผ่ที่ชโลมน้ำค่อย ๆ แซะแผ่นหมี่ขึ้นจากปากหม้อ (ขั้นตอนนี้ต้องระวังเป็นอย่างมากด้วยความร้อนและแผ่นหมี่จะขาด)

5. การทาน้ำมัน เมื่อปิดทิ้งไว้จนได้ที่แล้ว ก่อนการซอยจะต้องมีการทาน้ำมัน ซึ่งใช้ได้ทั้งน้ำมันพืช และน้ำมันหมู น้ำมันพืชใช้ในการทำหมี่แห้ง น้ำมันหมูใช้ทำหมี่สด การทาจะทาโดยด้านหนึ่งทาน้ำมันเพื่อให้เส้นมีความเหนียวนุ่ม ไม่ติดกันเป็นก้อน อีกด้านใช้น้ำเปล่าลูบขอบแผ่นหมี่ เพื่อให้ขอบนุ่ม ใช้ผ้าปิดทิ้งไว้อีกครั้งประมาณ 30 นาที

6. การตากแผ่นหมี่ นำแผ่นหมี่ที่ได้ไปตากบนแผงหมี่ (แผงหมี่สานจากไม้ไผ่ แผงนึงจะตากได้ 5 แผ่น) เพื่อให้แผ่นหมี่แห้งหมาด ๆ จะได้หั่นเป็นหมี่เส้นเล็ก ๆ ใช้เวลาตากประมาณ 1-2 ช.ม.

   6.1 ในขั้นตอนนี้จะเรียกว่า หมี่อ่อน (สามารถทำเป็นขนมได้ คือ หมี่อ่อนใบเตยไส้มะพร้าวอ่อน)

7. การกู้หมี่ คือ การนำหมี่ที่ทาน้ำมันแล้วมาเรียงซ้อนกันเป็นแผ่น ๆ เพื่อเตรียมซอยเป็นเส้น ๆ ในขั้นตอนต่อไป

8. การซอย หลังทาน้ำมัน และตากแผ่นหมี่ทิ้งไว้จนได้ที่แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการซอยหมี่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก เพราะจะต้องอาศัยความชำนาญในการซอยเพื่อให้เส้นที่ซอยออกมามีขนาดเล็ก ใหญ่สม่ำเสมอกันทุกเส้น โดยนำแผ่นหมี่มาเรียงกันประมาณ 5-8 แผ่น หรือ แล้วแต่ความชำนาญ มาม้วนบนเขียงแล้วซอยเป็นเส้นเล็ก ๆ ในขั้นตอนนี้จะเรียกว่า หมี่ยำ การซอยต้องม้วนแผ่นหมี่จากด้านใดด้านหนึ่ง ไปหาอีกด้านหนึ่ง ระหว่าการซอยต้องมีการลับมีดให้คมอยู่เสมอ เพื่อการซอยเส้นหมี่จะได้ง่าย และเส้นหมี่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งมีดที่ใช้ซอยมีหลายขนาดแล้วแต่ความถนัดของผู้ใช้ เมื่อซอยเสร็จแล้ว

      8.1 หมี่สด หรือ หมี่ยำ สามารถจำหน่ายได้เลย

      8.2 หมี่แห้งจะต้องจัดเรียงทำเป็นกำ หรือ หากขายหมี่สดไม่หมด จะนำเส้นหมี่วางบนแผง ก่อนนำไปตากแดดจนแห้ง

"ดังมีคำกล่าวที่ว่า หมี่พิมาย ตะคุ หนองหัวฟาน เป็นผัดหมี่เส้นแห้ง หมี่กระโทก น้ำฉ่า เป็นผัดหมี่เส้นสด"        


ส่วนผสมผัดหมี่โคราช


  • เส้นหมี่โคราช ประมาณ 1 คนทาน
  • เนื้อหมูหั่นชิ้นบาง (เป็นหมูแดง และหมูสามชั้น รวมกัน) ประมาณ 1 ขีด
  • ถั่วงอก 1 ถ้วย
  • ใบกุ้ยช่ายหั่นท่อน ประมาณ 2 ต้น
  • ไข่ไก่ 1 ฟอง
  • หอมแดงสับให้ละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
  • กระเทียมสับละเอียด ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เต้าเจี้ยว 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ้วดำ ครึ่งช้อนชา
  • น้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊ป ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 2.5 ช้อนโต๊ะ
  • พริกป่น ครึ่งช้อนชา
  • น้ำเปล่า 1-2 ถ้วย (อาจจะใส่ไม่หมดนะครับ)
  • น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
  1. เรามาเริ่มด้วยการตั้งกระทะให้ร้อนด้วยไฟปานกลาง หลังจากนั้นใส่น้ำมัน เมื่อน้ำมันร้อนดีแล้วให้ใส่หอมแดงและกระเทียมลงไปผัดให้พอหอม
  2. ใส่น้ำตาลปึกลงไปเคี่ยวให้ละลายและมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นให้ใส่เต้าเจี้ยว น้ำมะขามเปียก น้ำปลา พริกป่น และซีอิ๊วดำลงคนให้เข้ากันดี
  3. ใส่หมูลงผัดให้สุก แล้วเติมน้ำลงไปรอให้เดือดจึงลองชิมรสดูให้เข้มข้น
  4. ใส่เส้นหมี่ลงทีละนิดลงจนหมด และคลุกเคล้าให้เข้ากันกระทั่งน้ำปรุงซึมเข้าเส้นจนหมด ใช้ตะหลิวเกลี่ยเส้นหมี่ไว้ข้างกระทะ หลังจากนั้นให้ตอกไข่ลงไปในพื้นที่ว่างๆ ตีให้แตกเบาๆ แล้วผัดเส้นลงไปกลบ ทิ้งไว้สักพักแล้วจึงผัดให้ไข่สุก
  5. หลังจากนั้นใส่ใมบกุ้ยช่ายและถั่วงอกลงไป ผัดให้เข้ากันแล้วจึงปิดเตาตักใส่จาน
  6. เสิร์ฟพร้อม ถั่วงอก มะนาวหั่นซีก ใบกุ้ยช่าย และพริกป่น

เคล็ดลับ

  • เส้นที่ใช้จะเส้นเฉพาะของหมี่โคราช เพราะฉะนั้นเวลาผัดไม่จำเป็นต้องแช่น้ำก่อน สามารถใส่ลงไปผัดหลังจากเติมน้ำได้เลย สำหรับการเติมน้ำนั้นอาจจะยากสักหน่อย แต่ให้ลองใส่น้ำลงไปก่อนสักประมาณ 1-1.5 ถ้วย ถ้าดูว่าแห้งก็ให้เติมลงไปได้อีก
  • กระทะที่เหมาะสมคือกระทะเหล็กขนาดใหญ่เพราะจะต้องใส่น้ำลงไปพอสมควรจะเห็นว่าผัดหมี่โคราชนั้นจะมีลักษณะคล้ายๆ กับผัดไทยเลย เพียงแต่เส้นที่ใช้จะเป็นเส้นหมี่โคราชโดยเฉพาะ และตอนผัดจะใส่พริกป่นลงไปด้วย หากทำให้เด็กๆ ทานอาจจะไม่ใส่พริกป่นได้ครับ แต่รสชาติที่ควรจะเป็นสำหรับผัดหมี่โคราชคือ เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด หากใครชอบรสจัดก็สามารถเพิ่มอัตราส่วนของเครื่องปรุงได้
pic
pic
pic
pic
pic
pic
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว




ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด



สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
ถ.เพชรมาตุคลา ต.มะเริง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๔๔๒๒ ๐๘๙๘ โทรสาร ๐ ๔๔๒๒ ๐๘๙๘ กด ๕
Website : www.m-culture.go.th/nakhonratchasima

สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม