สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง



องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> มรดกทางวัฒนธรรม
พิธีกรรมสำนักเขาอ้อ

วันที่ 31 มี.ค. 2563

พิธีกรรมสำนักเข้าอ้อ

พิธีกรรมแช่ว่านยา สํานักวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง

"แช่ว่านยาหรืออาบว่าน” เป็นพิธีทางไสยศาสตร์ชั้นสูงของทางสํานักวัดเขาอ้อ หรือบางท่านอาจจะเรียกว่าวัดพระอาจารย์ขลัง วัดเขาอ้อ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปะและโบราณคดีตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ ตําบลมะกอกเหนือ อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายรูป ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทมนตร์และคาถาต่างๆ จึงได้รับการรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญมีอยู่ ๔ พิธีคือ

๑. พิธีเสกว่านให้กิน ทําโดยการนําว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์แล้วนําไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์หลังเสร็จพิธีจะนํามาแจกจ่ายให้กิน

๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดําทําโดยนําเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดํา เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน

๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทําโดยใช้น้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธินั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแข็งตัว แล้วจึงนํามาป้อนให้กิน

๔. พิธีแช่ว่านยา ทําโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรม ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม

พิธีกรรมแช่ว่านยา เป็นพิธีกรรมชั้นสูงของวัดเขาอ้อที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ศิษย์วัดเขาอ้อถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมประกอบพิธีปีละ ๒ ครั้ง คือเดือน ๕ และเดือน ๑๐ เดิมทีเป็นวิธีการใช้ว่านยาสําหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน และโรคคันต่างๆ เพราะในอดีตชาวบ้านมักจะเป็นโรคผิวหนังกันมาก ซึ่งต้องรักษาด้วยการอาบว่านสมุนไพร ถ้าไม่หายก็ต้องทำการแช่ว่านโดยการนอนแช่ในรางว่านยาทั้งตัวเพื่อให้ยาสมุนไพรซึมเข้าไปในเนื้อหนัง ซึ่งต่อมาผู้คนที่แช่ว่านยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคผิวหนังเกิดอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้าเกิดขึ้น จึงเกิดเสียงล่ำลือออกไปกลายเป็นว่าเพราะว่านยาที่แช่ทําให้อยู่ยงคงกระพันชาวบ้านจึงพากันไปแช่ว่านยาที่วัดเขาอ้อจึงทําให้วัตถุประสงค์ของการแช่ว่านยาจึงเปลี่ยนไปจากเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บกลายมาเป็นเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันด้วย

ในสมัยก่อนพิธีแช่ว่านยา ได้ประกอบพิธีกรรมกันภายในถ้ำฉัตรทันต์ซึ่งภายในถ้ำนั้นจะมีอ่างใหญ่ติดอยู่กับพื้นถ้ำด้านซ้าย อ่างแช่ว่านยานี้มีลักษณะยาวรีคล้ายอ่างอาบน้ำแต่เป็นการขุดเจาะลงในแผ่นหินของถ้ำ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ (พระอาจารย์ปาน มรณภาพเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๐) ได้สร้างรางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐโบกปูนขนาดความกว้าง ๒๑๕ เซนติเมตร สูง ๖๕ เซนติเมตรตั้งอยู่บนบริเวณเชิงเขาอ้อ หน้าถ้ำไทร นอกจากนี้ยังเคยมีการบันทึกเอาไว้ด้วยว่านอกจากการแช่ว่านยาที่วัดเขาอ้อแล้วในสมัยพระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม ท่านได้รับนิมนต์ไปประกอบพิธีแช่ว่านยาให้กับดร.ไมตรี บุญสูง ที่จังหวัดภูเก็ตโดยใช้ลําเรือมาทําเป็นอ่างแช่ว่านยาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นการประกอบพิธีแช่ว่านยาครั้งสุดท้ายของวัดเขาอ้อ
ความเชื่อเกี่ยวกับการแช่ว่านยาศิษย์วัดเขาอ้อและชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อว่าผู้ที่ได้ผ่านขั้นตอนพิธีกรรมแช่ว่านยาจะทำให้บุคคลนั้นมีตบะ อํานาจอย่างเสือ อดทนอย่างหมีและเข้มแข็งอย่างเหล็กกล้า แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงสามารถแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและมีความเชื่อว่าผู้ที่ได้ผ่านพิธีแช่ว่านยาตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไปจะทําให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันต่ออาวุธทุกชนิดแต่มีข้อห้ามกินปลาไหล มะละกอ ผักใต้บ่อทุกชนิด ผักตำลึง และห้ามผิดลูกเมียผู้อื่นสิ่งเหล่านี้หากปฏิบัติไม่ได้จะทําให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่มลงต้องไปทำพิธีใหม่การแช่ว่านยาครั้งหนึ่งๆนั้น ขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามและความอดทนของผู้แช่ว่านยาซึ่งในแต่ละครั้งนั้นต้องลงไปนอนแช่ว่านยาอย่างน้อยเป็นเวลา ๓ วัน อย่างมากไม่เกิน ๗ วัน ซึ่งในตลอดชีวิตของคนคนหนึ่งสามารถลงแช่ว่านยาได้ไม่เกิน ๗ ครั้ง จากบันทึกมีแค่ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช เพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถแช่ว่านยาได้นานสุดครั้งละ ๗ วัน และแช่ได้ครบ ๗ ครั้ง

 

 



แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง และงานประสานขอพระราชทานเพลิง ตั้งอยู่ : ศาลากลางจังหวัดพัทลุง (หลังเก่า) ชั้น ๒
ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๙
 
กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตั้งอยู่ : วัดภูผาภิมุข ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๕๓๔๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๐๙๐๙
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม