แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว >> สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี

วันที่ 28 ต.ค. 2563 (จำนวนคนอ่าน7172คน)

ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี   เป็นชุมชนที่มีการดำเนินกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและ  แสดงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน เช่น มีอาคารที่เก่าแก่ มีสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นท้องถิ่น มีตลาดที่ยังเป็นธรรมชาติคงความเป็นท้องถิ่น มีวัด โบราณสถาน ศาสนสถาน รวมถึงวิถีชีวิตแบบไทยๆ อาชีพ การสาธิตความรู้เชิงช่างภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมทางศิลปะ ดนตรี กีฬา และการแสดงพื้นบ้าน

 

เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อันโดดเด่นของชุมชน

ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี   ประกอบด้วย ชุมชนถนนคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำ ชุมชนวัดเกาะ

ประวัติศาสตร์ของเมืองเพชร ระบุว่าทั้งสามชุมชน (ถนนคลองกระแชง, ชุมชนตลาดริมน้ำ,ชุมชนวัดเกาะ) อยู่ในบริเวณกลางเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่สร้างขึ้นมาเป็นเวลาเกือบพันปีโดยไม่เคยโยกย้ายที่ตั้งเลย ผู้คนไม่เคยหายไปไหน ไม่ใช่เมืองโบราณบ้างเมืองที่เคยร้างไปแล้วเข้าไปตั้งอยู่ใหม่  เช่น สุโขทัย  อยุธยา เมืองลพบุรี  บางเมืองเป็นเมืองเก่าแต่เปลี่ยนที่ตั้งหลายครั้ง เช่น สุราษฎร์ธานี  สงขลา ถนนนครนอกนครใน ที่เริ่มมาสร้างเมืองในสมัยรัชกาลที่๓แต่ก่อนหน้านั้นตัวเมืองอยู่อีกฝั่ง

ฉะนั้นความน่าสนใจและความน่าทึ่งของเพชรบุรีเกือบพันปีที่เมืองตั้งอยู่ตรงนี้แล้วไม่เคยย้ายไปไหน ผู้คนก็อยู่อาศัย  โบราณสถานก็ตั้งอยู่ที่ตั้งเดิม มีคนที่มาปรับเปรียบมาอาศัยอยู่รวมกัน ภายในชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนทั้งหมดมีทั้งหมด มี  ๙ พื้นที่ได้แก่

๑.      Phub aha chai temple (วัดพลับพลาชัย)

๒.      Kamwasee pavilion (ศาลาคามวาสี)

๓.      Phetchaburi rivers treasures (พิพิธภัณฑ์สมบัติแม่น้ำเพชร)

๔.      Mitr Chaibancha (บ้านมิตรชัยบัญชา)

๕.      Wat Mahathat, Phetchaburi (วัดมหาธาตุ)

๖.      The 'Khao Chae' Royal Thai Summer Dish ( เรียนรู้ประวัติข้าวแช่ )

๗.      Wat koh (วัดเกาะ)

๘.      Thai Desserts : aa lua (ร้านขนมครูปราณี ขนมอาลัว)

๙.      Hak Xian Xian tuang vegelavan โรงเจฮักเสียนเสี้ยนตึ้ง

ศาสนสถาน/แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

วัดพลับพลาชัย    เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลวงพ่อฤทธิ์เป็นผู้นำในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งหนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยที่มีชื่อเสียงมาก ได้เล่นถวาย รัชกาลที่ ๕ศิลปะที่น่าสนใจในวัด คือ ลายปูนปั้นหน้าบันที่วิหาร และซุ้มประตูโบสถ์ งานจำหลักไม้ที่บานประตูโบสถ์ และพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่   

วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญมากของเมืองเพชรบุรี มีพระปรางค์ ๕ยอดเป็นสถาปัตยกรรมงดงามที่เห็นได้อย่างเด่นชัด สันนิษฐานว่าสร้างตามคติพุทธมหายานของขอม น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๙๐๐ปี แต่ได้มีการซ่อมแซมอีกหลายครั้งภายในวัดมีศิลปะที่น่าสนใจ ทั้งงานปูนปั้นของช่างเพชรบุรี ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันและงานจิตรกรรมฝาผนังของครูช่าง ภายในพระวิหารหลวง นอกจากนี้ยังเป็นวัดเดียวในเมืองเพชรที่สามารถหาชมการแสดงละครชาตรีได้

ลานสุนทรภู่   เป็นพื้นที่พักผ่อน และลานกิจกรรมทางวัฒนธรรมริมแม่น้ำเพชรบุรี ลานนี้
มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากบริเวณนี้มีท่าขึ้นเรือของย่าน จึงทำให้มีผู้คนหลากหลายที่มาใช้บริการ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไปจนถึงแม่ค้า ประชาชน รวมถึงผู้ที่มีชื่อเสียงในฐานะกวีอย่างท่านสุนทรภู่ นอกจากนี้  ยังมีพลับพลาที่ประทับของกษัตริย์ที่เสด็จมาทางชลมารคปรากฏหลักฐานชัดเจนในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่

ลานสุนทรภู่อยู่ในเขตพื้นที่ของวัดพลับพลาชัย ภายในลานมีศาลาพลับพลา  และมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่  เพื่อเป็นอนุสรณ์ของบรมกวีเอกของชาติ ที่ได้บรรยายถึงวัดพลับพลาชัยไว้ในนิราศเมืองเพชรอันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายในชีวิตของท่าน

วัดเกาะ  เป็นวัดเก่าแก่ประจำเมืองเพชรบุรีสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีอาคารสถานที่คัญ ได้แก่ พระอุโบสถสมัยอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว มีอักษรจารึกบอกเวลาที่เขียนภาพจิตรกรรมนี้ ระบุ พ.ศ.2277 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจดีย์ทรงเครื่องตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร บรรจุพระบรมธาตุ มีงานปูนปั้นที่ตกแต่งองค์เจดีย์อย่างสวยงาม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ของวัดที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูป เครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์ ฯลฯ

บ้านวาดเวียงไชยนายครองวาดเวียงไชย คหบดีค้าข้าวในย่านหัวถนน ชุมชนวัดเกาะ อาคารเป็นเรือนปั้นหยาที่มีความสวยงามมากใช้ช่างจีนและช่างไทยในการก่อสร้างซึ่งถือว่าเป็นบ้านโดดเด่นและทันสมัยมากในยุคนั้น อาคารมีอายุราวประมาณ ๙๐ปี ปัจจุบันสืบทอดโดยลูกชายคนเล็กของนายครองวาดเวียง คือ คุณศฤคาร วาดเวียงไชย ซึ่งเป็นนักกลอน นักเขียนชื่อดังนามปากกา ธัญญา ธัญญามาศ

  บ้านหมื่นศุขประสารราษฎร์     ท่านหมื่นศุขประสารราษฎร์ เดิมชื่อ นายป้าน ศุขะพานิช ซึ่งนับเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของย่านชุมชนวัดเกาะ ในอดีตท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน ดูแลให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขเรียกว่าในยุคที่ท่านปกครองไม่มีโจรขโมย  และเป็นที่เคารพรักยำเกรงของคนทั่วไป ทั้งประกอบกิจสาธารณะประโยชน์มากมาย  จนได้รับการแต่งตั้งจากรัชกาลที่ ๕ ได้ยศบรรดาศักดิ์เป็น "หมื่นท่านหมื่นศุขประสารราษฎร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดจันทราวาส (ศุขประสารราษฎร์)

 

บ้านป้าเนื่อง    นางเนื่อง แฝงสีคำ    เป็นช่างทำทองฝีมือสกุลช่างเมืองเพชร มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพสร้างสรรค์การทำทองรูปพรรณอย่างมีคุณภาพ โดยคิดค้นหาวิธีการต่าง ๆ และได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทั่วไปจนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประยุกต์ศิลป์) พุทธศักราช ๒๕๕๕  (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว แต่ยังมีลูกสืบทอดการทำทองอยู่ที่บ้าน)

 

โรงเจฮักเสียนเสี้ยนตึ้ง  เป็นโรงเจโบราณ ของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยน ๕ ตระกูล ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ประกอบด้วยโรงเจ และศาลเจ้า ชาวจีนจะมากราบไหว้ หมอฮูโต๋และเสี่ยงเซียมซีรักษาโรค มีชินแซจัดยาให้

ศาลาคามวาสี : ในวัฒนธรรมของคนเพชรบุรี ในย่านสำคัญต่างๆในเพชรบุรี นิยมสร้างศาลากลางบ้าน ซึ่งคามแปลว่าหมู่บ้าน คือศาลากลางหมูบ้านของชุมชนที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางศาสนา ตามวาระที่ชาวบ้านนิมนต์พระมาทำกิจกรรมทางศาสนาที่ชุมชน นอกจากนี้ศาลาคามวาสียังเคยเป็นโรงเรียนสตรี ที่เปิดสอนชาวบ้านในละแวกนั้น ก่อนจะปิดตัวลง และทำหน้าที่เป็นศาลากลางบ้านให้กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

 

    ติดต่อสอบถาม  : ปภังกร  จรรยงค์     โทร.062 4635464
                    รมยกรณ์  เอราวัณ   โทร.   0614081812,  08603444418
                    พรรณิภา  ภู่แสง      โทร .0867994851

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ชื่อ ของคุณ : *
ความคิดเห็น : *

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


๖๖๖ ชั้น ๑๕-๒๓ ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐ โทรศัพท์ ๐๒ ๔๒๒ ๘๘๘๘

สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม