แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว >> สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วัดบ้านหงาว

วันที่ 14 พ.ค. 2563

วัดบ้านหงาว  เริ่มก่อตั้งเป็นที่พักสงฆ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐  โดยในปีนั้น  มีพระธุดงค์ที่มีอายุพรรษามากรูปหนึ่ง  ท่านธุดงค์มาจากจังหวัดปัตตานี  มีชื่อว่า  หลวงพ่อเขียด  ไม่ทราบฉายาของท่าน  มาปักกรดโปรดสัตว์อยู่ที่บริเวณสถานีอนามัยตำบลหงาวในปัจจุบัน  เนื่องจากตำบลหงาวไม่มีวัดมาก่อน  ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาก  เมื่อมีพระธุดงค์มาปักกรดโปรดสัตว์ จึงพากันไปนมัสการทำบุญฟังธรรมกันมาก
    หลวงพ่อเขียดท่านมีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมในมาก  โดยได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือชาวบ้านในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี  ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่บ้านหงาว  โดยคุณแม่ลำไย  สกุลสิงห์  คหบดีในตำบลหงาว  อุทิศที่ดินจำนวน  ๒  ไร่  สร้างเป็นที่พักสงฆ์  หลวงพ่อเขียด  รับนิมนต์และย้ายไปปักกรดในที่ดินที่คุณแม่ลำไย  อุทิศให้  คือบริเวณที่ตั้งวัดบ้านหงาวปัจจุบัน

    หลวงพ่อเขียด  ได้ขอบิณฑบาตกระดานโลงศพในส่วนที่เป็นฝาและท้องโลงศพที่ชาวบ้านนำศพไปเผาแล้วถอดออกเพื่อทำเป็นเชื้อไฟนำมาทำเป็นกุฏิของท่าน  เนื่องจากการเผาศพในสมัยก่อนไม่มีเมรุเผาศพอย่างเช่นในปัจจุบัน  เมื่อมีการตายเกิดขึ้น  ชาวบ้านจะนำไม้กระดานพื้นหนา ๆ มาทำเป็นโลงศพ  เวลาเผาศพก็ทำเป็นเชิงตะกอน  โดยนำไม้ฟืนมาวางเรียงซ้อน ๆ กันขึ้น  แล้วนำโลงศพขึ้นวางบนเชิงตะกอน  ก่อนเผาจะถอดเอากระดานท้องโลงออกและฝาโลงเพื่อใส่เครื่องหอมและทำให้ไฟติดดีและเร็ว  พร้อมกับทำพิธีแบบโบราณ  คือใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ พลิกศพให้คว่ำหน้าลง  ใช้มือฟื้นทับหลังอีก 2 ท่อน  ส่วนไม้กระดานท้องโลงและฝาโลงที่ถอดออกจะวางแนบไว้ข้างโลงเป็นเชื้อเพลิงต่อไป  เมื่อชาวบ้านนิมนต์ท่านไปบังสุกุลศพเห็นว่าไม้กระดานฝาและท้องโลงนี้น่าจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้  ท่านก็ขอบิณฑบาตนำไปทำเป็นกุฏิของท่าน
    เนื่องจากหลวงพ่อเขียดเป็นพระธุดงค์  ชอบความสงบ  วิเวก  เมื่อสร้างที่พักสงฆ์เสร็จแล้ว   มีพระภิกษุสามเณรมาอยู่กันมาก  คนเริ่มเข้าวัดมากขึ้น  ท่านเห็นว่ามีพระอยู่กันหลายรูปแล้ว  ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒  ท่านก็จาริกธุดงค์ไปที่อื่นต่อไป  โดยไม่มีใครทราบว่าท่านธุดงค์ไปที่ไหนจนกระทั่งปัจจุบัน
    ต่อมาที่พักสงฆ์บ้านหงาวได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักสงฆ์สาขาวัดอุปนันทาราม  มีพระครูสมุห์นิคม  อรุโณ  มาอยู่เป็นเจ้าสำนัก  จึงมีการพัฒนาและก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มขึ้น  เช่น  กุฏิพระสงฆ์  หอฉัน  ศาลาการเปรียญ  เป็นต้น  เพื่อเตรียมการขอตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมการศาสนา  
    การที่สำนักสงฆ์จะขอยกฐานะเป็นวัดได้นั้นจะต้องมีที่ดินอย่างน้อย ๖ ไร่ ขึ้นไป  และมีกุฏิ  เสนาสนะ  สิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่น เช่น  เมรุเผาศพ  เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้  ดร.แหลม  พิชัยศรทัต  ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทไซมัสกินซินทีเกรด  ทำธุรกิจเหมืองเรือขุดแร่อยู่ในตำบลหงาว  และเป็นกำนันอยู่ในตำบลหงาวขณะนั้น  ท่านได้ของบประมาณจากทางจังหวัดมาสร้างเมรุเผาศพ  และขอบริจาคที่ดินจากผู้ที่มีที่ดินติดกับวัด  จึงทำให้วัดบ้านหงาวมีที่ดินเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น  ๒๒  ไร่  เศษ  ดังปัจจุบัน
    สำนักสงฆ์หงาวได้เปลี่ยนแปลงตัวเจ้าสำนักบ่อยครั้ง  โดยมีเหตุผลจากหลายสาเหตุ  ทำให้การพัฒนาวัดหยุดชะงักไม่ต่อเนื่อง  และไม่มีรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม  สิ่งก่อสร้างทีมีอยู่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปเรื่อย ๆ   ต่อมาในปี พ.ศ. 2530  จึงได้ยกฐานะจากสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัด  โดยใช้ชื่อว่า "วัดบ้านหงาว”  มีพระอธิการน้อม  จนฺทสโร  เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  พระอธิการน้อม  มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๒  ทางคณะสงฆ์จังหวัดระนองจึงได้ส่งพระสมุห์โกศล  กุสโล  (อาจารย์ฉลวย  กุสโล)  มาเป็นเจ้าอาวาสแทน  พระสมุห์โกศล  กุสโล  ท่านเป็นพระนักพัฒนา  ท่านได้วางแผนพัฒนาวัดบ้านหงาวอย่างต่อเนื่อง  สร้างกุฏิ  หอฉัน  ศาลาการเปรียญ  เมรุเผาศพขึ้นใหม่  รวมทั้งจัดตั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขึ้นในเหมืองเก่า  หาพันธุ์ปลามาปล่อย  และตั้งชื่อขุมเหมืองแร่เก่านี้ว่า "วังมัจฉา” มีพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หายาก เช่น ปลาบึก  มาปล่อยลงวังมัจฉานี้  จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระนองในปัจจุบัน
แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ภายในวัดบ้านหงาว 
อุโบสถวัดบ้านหงาว  เป็นอุโบสถ 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า อุโบสถลอยฟ้ากว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร รอบอุโบสถเทคอนกรีตเป็นลานกว้างมีลูกกรงล้อมรอบ ในแต่ละมุมทั้ง 4 ด้าน มีอาคารจัตุรมุขกว้าง มีบันไดขึ้นลงรอบทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านล่างของอุโบสถเป็นห้องโถงใช้สำหรับการประ ชุมสัมมนา ภายในอุโบสถวัดบ้านหงาว เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีนามว่า "หลวงพ่อดีบุก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีชื่อเป็นทางการว่า "พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์” อันมีความหมายว่า "พระพุทธรูปดีบุกองค์ใหญ่เป็นสิริมงคลและศักดิ์ศรีของเมืองระนอง” และยังมีความสวยงามของฝาผนังที่แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ  อีกด้วย
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดบ้านหงาว  ภายในจะแสดงเรื่องราวการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร ที่ชาวระนองวัดบ้านหงาว ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดระนอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จหลายครา ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ทำให้คนในชุมชนมีความพออยู่พอกิน หาเลี้ยงพึ่งพาตนเองได้ ลูกหลานระนองทุกคนมีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ระนองเป็นเมืองแห่งความจงรักภักดี
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งมีการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ทั้งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยต่าง ๆ  เครื่องมือในการร่อนแร่ ครกบดหิน เงินตราสมัยต่าง ๆ ตลอดถึงภาพเก่า ๆ ที่สามารถเล่าเรื่องอดีตให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า 
วัดบ้านหงาว มีมรดกทางวัฒนธรรมและมีธรรมชาติอากาศบริสุทธิ์ ภูเขาหญ้าที่สวยงาม ช่วงวันออกพรรษา ที่นี้จะมีการตักบาตรเทโว ที่พระสงฆ์เดินลงเป็นสายทางยาวลงบันได จำนวน ๓๔๓ ขั้น จากยอดเขาลงมา ให้พุทธศาสนิกชน ได้ตักบาตร เสมือนหนึ่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาโปรดมนุษย์ เนื่องในวันออกพรรษา ประชาชนในชุมชนได้ร่วมทำบุญ อิ่มบุญกันถ้วนหน้า เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรต้นแบบ ที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมให้เป็น
ชุมชนบวร On Tour ที่ควรภาคภูมิใจและไปเยี่ยมเยือน
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด



สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง 55/11 ม.3 ถ.เพชเกษม ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง 85000
โทร.0-7786-2082 RNCultureOffice@Gmail.com


สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม