องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ประเพณีท้องถิ่น
การจัดงานบุญเดือนอ้าย ไหว้พระธาตุเมืองอากาศ บุญมหาชาติประทายข้าวเปลือก ประเพณีบุญตูบ

วันที่ 16 มี.ค. 2565

พระธาตุเมืองอากาศ สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาและความรักความสามัคคีของชาวอำเภออากาศอำนวย ตั้งอยู่ที่ วัดทุ่ง (เดิมชื่อวัดทัดสิมาวาด) หมู่ ๒ บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในส่วนของประวัติการสร้างพระธาตุเมืองอากาศนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าในสมัยก่อนท่านพระอาจารย์สีทัด ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์สายปฏิบัติกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากมีถิ่นกำเนิดเกิดที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาว ท่านได้ธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฎฐานในฝั่งประเทศไทย มีผู้คนรู้จักและเคารพนับถือ ท่านได้ธุดงค์มาพักแรมที่บ้านอากาศบ่อยครั้ง จนรู้จักมักคุ้นญาติโยมชาวบ้านเป็นอย่างดี และเมื่อพระอาจารย์สีทัด เดินทางมาที่เมืองอากาศอำนวย จึงได้นัดประชุมชาวบ้านอากาศทุกครัวเรือนเกี่ยวกับ การก่อสร้างพระธาตุและหาสถานที่เหมาะสมแล้วปักเขตเอาความกว้าง 14.50 เมตร ความยาว 14.50 เมตร สถานที่ดังกล่าวก็คือ ที่ตั้งธาตุเก่าปัจจุบัน (อยู่ติดกับโรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา) ในการก่อสร้างพระธาตุนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากว่าในหน้าฝนชาวบ้านก็หยุดทำนาพอเสร็จจากการทำนาก็ร่วมแรงกันสร้างพระธาตุต่อ การก่อสร้างพระธาตุ ในสมัยนั้นต้องหยุดชะงักไป โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดว่าเหตุใดจึงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ จนทำให้ พระอาจารย์สีทัดย้ายไปสร้างพระธาตุท่าอุเทนแทน ปัจจุบันฐานพระธาตุที่สร้างไม่สำเร็จก็ยังคงปรากฏอยู่ ต่อมาท่านพระครูพิมลธรรมนิเทศ (เจ้าอาวาสวัดทุ่ง) ได้เดินทางไปยังประเทศพม่า สังเกตเห็นทุกวัดมีเจดีย์พระธาตุองค์ต่างๆ จึงตั้งจิต อธิฐานที่เจดีย์ชเวดากองว่า "ขอให้ได้สร้างพระธาตุประจำเมืองอากาศให้สำเร็จ เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะของคนทั่วไป และเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา" จากนั้นท่านพระครูพิมลธรรมนิเทศก์ เดินทางกลับมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ จึงได้พาญาติโยมชาวเมืองอากาศก่อสร้างพระธาตุเมืองอากาศขึ้นบริเวณ วัดทุ่ง ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมีฐานกว้าง ๙ x ๙ เมตร สูง ๓๗ เมตร สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ และได้บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร โดยมีพระเดชพระคุณพระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าคณะภาค ๘ กรรมการมหาเถระสมาคม มาเป็นประธานในการบรรจุพระธาตุเมืองอากาศ จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภออากาศอำนวยและเป็นที่เคารพสักการะบูชาให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้คนที่เดินทางมายังอำเภออากาศอำนวย ได้สักการะเสริมสิริมงคล ในชีวิต บุญเดือนอ้ายเป็นงานบุญประเพณีอย่างหนึ่งของชาวอีสานตามประเพณี 12 เดือนอีสาน (ฮีตสิบสอง) ซึ่งจะมีพิธีกรรมสำคัญๆ เกิดขึ้นในเเต่ละเดือน ใน 1 ปี ที่ปฏิบัติกันมาตั้งเเต่สมัยบรรพบุรุษจนสืบทอดมาถึงช่วงสมัยปัจจุบัน บุญเดือนอ้าย เป็นประเพณีทำบุญในเดือน 1 ตามปฏิทินอีสาน เรียกว่าบุญเข้ากรรม เป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่าเข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆาทิเสสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระ โดยกำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบไม่มีคนพลุกพล่าน ในบริเวณวัด โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลังๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่งๆ จะมีจำนวนเท่าใด แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป ไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนั้นคือ การหาข้าวของเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระเชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไปและเมื่อมีการเข้าปริวาสกรรม ซึ่งมีพระสงฆ์และญาติโยมมาจากทุกสารทิศมาร่วมงานจึงเกิดประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่ง เรียกว่า"บุญตูบ” ซึ่งเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าของชาวไทโย้ย โดย "ตูบ” นั้นเป็นการสร้างที่พักคล้ายๆ กับกระท่อมขนาดเล็กมีประตูหน้าต่างถาวร วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะมีโครงสร้างไม้ไผ่เป็นหลัก ส่วนวัสดุที่ใช้ทำฝาก็จะใช้ฟางข้าวมุงด้วยหญ้าคาเพื่อเป็นที่อาศัยหลับนอนทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในลักษณะเป็นเพิงหมาแหงนในแนวยาวเป็นทั้งที่พักและเป็นที่ตั้งของกองบุญ เครื่องอัฐบริขารและชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญได้พักอาศัย โดยประเพณีบุญตูบนั้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการเตรียมสถานที่เพื่อให้พระสงฆ์มาปริวาสกรรม ในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์มาจำนวนมากทำให้กุฏินั้นไม่เพียงพอต่อพระสงฆ์ที่มาปริวาสกรรม จึงเกิดแรงศรัทธาของชาวคุ้มต่างๆ ภายในเขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวยและชาวบ้านใกล้เคียง ได้มาร่วมกันสร้างตูบขึ้นโดยนำเอาวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้และยังเป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้นำเอาวัสดุอุปกรณ์มาใช้และยังนำเอาอุปกรณ์วิถีชีวิตการทำมาหากินในการดำเนินชีวิตประจำวันของเผ่าไทโย้ยได้นำมาแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็น ทั้งยังเป็นที่พบปะสังสรรค์ของหนุ่มสาวแต่ละหมู่บ้าน อีกด้วย โดยก่อนถึงงานบุญตูบก็มีการรำบูชาพระธาตุเมืองอากาศ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่องค์พระธาตุเมืองอากาศ ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองของชาวอำเภออากาศอำนวย แล้วยังทำให้พุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาร่วมสักการะองค์พระธาตุ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากที่รำบวงสรวงแล้วก็จะมีประเพณีขึ้น"ตูบ”เป็นความเชื่อและพิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ของชาวไทยอีสาน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านใหม่อยู่เย็นเป็นสุขและ มีความเจริญรุ่งเรือง โดยสมมุติให้ตามั่นผู้มาจากเมืองที่มีความมั่งคั่งสมบูรณ์มาค้ำคูณให้เป็นสิริมงคลในวันที่มีฤกษ์งามยามดี อุดมสมบูรณ์พร้อมทั้งข้าวปลาอาหารคาวหวาน ข้าทาสและบริวาร เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านมาร่วมแสดงความยินดีอำนวยอวยพรให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กันและกัน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์และ ความสามัคคีในชุมชน และยังมีการเล่นกลองเลง คำว่า "เลง" ในภาษาโย้ย หมายถึงการเล่นในเวลากลางคืนการเล่นกลองเลง หมายถึงการใช้กลองตีเที่ยวเล่นในเวลากลางคืนในคืนวันรวมของงานบุญมหาชาติ เช่น บุญตูบ บุญผาม บุญมหาชาติ โดยจะมีหนุ่มๆ นัดหมายกันมาเล่นตลอดทั้งคืน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการละเล่นของชาวไทโย้ย ประเพณีบุญตูบนั้นเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงในงานบุญประเพณีประจำปี เมื่อถึงงานบุญประเพณีดังกล่าวชาวบ้านในเขตอำเภออากาศอำนวยและใกล้เคียงต่างเดินทางไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นที่น่าชื่นชม ถือเป็นประเพณีที่ควรแก่การสืบสาน สืบทอด และต่อยอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สร้างความรัก ความสามัคคี เกิดมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริม สนับสนุน รักษาและต่อยอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทโย้ย ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ที่มีความเข้มแข็ง มีความรักความสามัคคีและอีกทั้งเพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอำเภออากาศอำนวย ของจังหวัดสกลนคร ให้คงอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครร่วมกับวัดทุ่งและประชาชนชาวอำเภออากาศอำนวย จึงได้จัดทำโครงการจัดงานบุญเดือนอ้าย ไหว้พระธาตุเมืองอากาศ บุญมหาชาติประทายข้าวเปลือก ประเพณีบุญตูบ ขึ้น กิจกรรมที่ดำเนินการ 1) พิธีเปิดงานบุญเดือนอ้าย ไหว้พระธาตุเมืองอากาศ บุญมหาชาติประทายข้าวเปลือก ประเพณีบุญตูบ 2) พิธีบวงสรวงพระธาตุเมืองอากาศ 3) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และสวดพุทธาภิเษกตลอด 7 คืน 4) การจัดแสดงตูบวิถีชีวิตเผ่าไทโย้ยและการสาธิตอุปกรณ์การทำมาหากินของเผ่าไทโย้ย 5) การแสดงรำบูชาพระธาตุเมืองอากาศ 6) ขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง 7) กิจกรรมฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์หลอน 8) กิจกรรมทำวัตรสวดมนต์เย็น เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเมืองอากาศ 9) การแสดงมหรสพและการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประโยชน์ที่ได้รับ 1) เด็ก เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา สามารถน้อมนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ๒) เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสนมัสการองค์พระธาตุเมืองอากาศ และร่วมงานบุญตูบ บุญประทายข้าวเปลือก แห่พระเวสสันดร ๓) งานประเพณีบุญเดือนอ้าย ไหว้พระธาตุเมืองอากาศ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน 4) คนในชุมชนได้สืบสานประเพณีอันดีงาม เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็ง 5) คนในชุมชนได้สืบสานการอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไทโย้ย ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ให้เป็นที่รู้จักในระดับจังหวัดและสากล
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ถนนศูนย์ราชการ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร ๔๗๐๐๐

โทร.๐๔๒-๗๑๖-๒๔๗  โทรสาร.๐๔๒-๗๑๖-๒๑๔
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม