องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ศิลปินดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่น
นายจำลอง นวลมณี

วันที่ 7 ก.ค. 2559
 

 

บุคคลสำคัญด้านศิลปะและวัฒนธรรม

นายจำลอง    นวลมณ

 
          ประวัตินายจำลอง  นวลมณี เกิดวันจันทร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๖๐ ปีมะเส็ง  ที่ตำบลธาตุเชิงชุม  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  เป็นบุตรชายคนโตของ  นายฟอง  นวลมณี  มีพี่น้องท้องเดียวกัน ๘ คนชาย ๓ คนหญิง ๕ คน  พี่น้องยังมีชีวิตอยู่จนปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๔๐) ในวัยเด็กเป็นคนขี้โรคอ่อนแอมาแต่กำเนิดเพราะเกิดในปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ญาติพี่น้องเหมาเอาว่าคนเจ็บคนป่วยในสงครามโลกมาเกิดความอ่อนแอทำให้เพื่อเหยียดหยามรังแกเสมอจึงทำให้มีทิฐิมานะฝึกตนเองเล่นกีฬาทุกอย่างให้ร่างกายแข็งแรงนับแต่ชกมวยตะกร้อฟุตบอลยิมนาสติกหกสูงในบาร์คู่ขี่จักรยานสองล้อผาดโผนสามารถเล่นได้ดีไม่แพ้ผู้แสดงกายกรรมอาชีพจึงได้รับชื่อเสียงในทางกีฬาเสมอมา
          ความสนใจกีฬารวมทั้งกีฬามวยได้ฝึกมวยคาดเชือกกับ อาจารย์ประสิทธิ์  บุญญารมย์  ครูมวยคณะทวีสิทธิ์  นักมวยมีชื่อเสียงสมัยนั้นจนช่ำชองคล่องตัวสามารถขึ้นบนเวทีมวยได้นอกจากสนใจมวยคาดเชือกแล้วนายจำลองนวลมณียังสนใจมวยพื้นบ้านซึ่งมีลีลาท่าทางอ่อนช้อยสวยงามและแฝงไว้ซึ่งความแข็งแรงน่าเกรงขามนายจำลองได้ติดตามการเล่นการแสดงของนักมวยไปทุกหนทุกแห่งซึ่งมักมีในงานบุญมหาชาติ(บุญผเวส)  บุญบั้งไฟ  เมื่อทราบข่าวบางทีต้องเดินทางแรมคืนไปดูจึงได้เห็นลีลาท่าทางชั้นเชิงของนักมวยแต่ละคนแล้วนำมาฝึกหัดดัดแปลงจากหลายๆอย่างเพื่อให้ดูน่าชมครูมวยโบราณชื่นชมมากที่สุดคือนายฮ้อยสีมุมเป็นชาวกุลา(ไทใหญ่)  รูปร่างสูงใหญ่มีลายสักเต็มตัวตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะเป็นนักมวยที่มีลวดลายลีลาท่าทางสวยงามมากจึงได้ฝึกหัดกับนายฮ้อยสีมุนเมื่ออายุ ๑๐ ปี
          นายจำลอง  นวลมณีได้สมรสกับคุณสุวรรณ  พรหมสาขา ณ สกลนคร  บุตรสาวขุนจำรูญ  ธนากรมีบุตรด้วยกัน ๔ คนเป็นหญิง๓คนชาย ๑ คนบุตรธิดาทั้งหมดจบการศึกษาระดับปริญญาทุกคนมีอาชีพเป็นหลักฐานทั้งนี้เพราะได้รับการฝึกอบรมจากบิดามารดาให้มีความอุตสาหะอดทนตั้งใจเล่าเรียน

          การประกอบอาชีพของนายจำลองนวลมณีได้ผ่านการฝึกอาชีพมามากมาย  ต่อมานับแต่เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นที่บ้านของตนมีชื่อร้านว่า "จำลองศิลป์" เพื่อแข่งกับคนต่างด้าวที่ยึดอาชีพนี้ก่อนแล้วเป็นครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้าทำงานบริษัทจังหวัดสกลนครควบคุมการเดินรถยนต์ของบริษัทเป็นผู้รับเหมาเรือขนส่งรับเหมาส่งลูกรังซ่อมถนนไปทำเหมืองแร่ที่ประเทศลาวเป็นสมาชิกสภาเทศบาลถึง ๒ สมัยเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติใน  พ.ศ.๒๕๑๖ และเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๕ ก็เลิกจ้างเพราะต่ออายุทำงานมา ๕ ครั้งแล้วนับว่าเป็นผู้มีประสบการณ์รอบตัว

 
ผลงานและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ.๒๕๐๘ ไปร่วมชุมนุมงานลูกเสือแห่งชาติที่ค่ายวชิราวุธ  อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี  โดยแสดงการเล่นวัฒนธรรมท้องถิ่น
พ.ศ.๒๕๐๙ นำคณะเทศบาลเมืองสกลนคร  ไปแสดงศิลปนาฏศิลป์พื้นเมืองที่โรงละครแห่งชาติกรุงเทพเพื่อต้อนรับประธานาธิบดีปักจุงฮีแห่งเกาหลีใต้

พ.ศ.๒๕๑๑ แสดงการฟ้อนหางนกยูงบนหัวเรือหางยาว(เรือแข่ง) ในงานแข่งเรือออกพรรษาได้อย่างสวยงามอ่อนช้อย

พ.ศ.๒๕๑๓ แสดงรำมวยโบราณออกทีวีช่อง ๔ ที่จังหวัดขอนแก่นในรายการของดีอีสาน

พ.ศ.๒๕๒๐ แสดงรำมวยโบราณหน้าพระที่นั่งในงานพระราชทานเลี้ยงข้าราชการและผู้แทนหน่วยงานสำคัญของ ๑๖ จังหวัดในภาคอีสาน ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

พ.ศ.๒๕๒๕ แสดงรำมวยโบราณที่สวนอัมพรในงานเทศกาลปีท่องเที่ยวในปีนั้นได้แสดงมวยโบราณที่สยามสมาคมซอยอโศกกรุงเทพฯเพื่อให้สมาชิกสยามสมาคมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศชม

พ.ศ.๒๕๒๖ แสดงในงานมูนมังอีสานที่วิทยาลัยครูสกลนครจัดขึ้น

พ.ศ.๒๕๒๗ แสดงที่สโมสรกองทัพบกสี่เสาเทเวศน์ในงานชุมนุมชาวสกลนคร

พ.ศ.๒๕๒๗ แสดงทางโทรทัศน์ช่อง ๔ ขอนแก่นรายการโตชิบ้ารักไทยในปีเดียวกันนั้นเองได้แสดงที่หมู่บ้านชาวอีสานที่สวนอัมพร

          เกียรติคุณที่นายจำลองได้รับสูงสุดคือในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๙ ได้รับเลือกเป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมประจำปี ๒๕๒๙ สาขาการแสดงพื้นบ้านและนันทนาการ

          นายจำลอง  นวลมณี  เป็นผู้ที่ดำรงชีวิตเรียบง่ายสมถะ  ไม่สูบบุหรี่  ไม่ดื่มสุรา  รับประทานอาหารวันละ ๑ มื้อออกกำลังกายสม่ำเสมอและยึดมั่นในศีลธรรมในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้เข้าอุปสมบทณวัดป่าบ้านหนองไผ่  อำเภอเต่างอย  จังหวัดสกลนคร  จนถึงปัจจุบัน

          สิ่งที่นายจำลองนวลมณีสร้างสรรทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญคือท่ารำมวยโบราณทั้งท่ารำเดี่ยวรำหมู่และลีลาการต่อสู้ท่ารำเหล่านี้ได้ตั้งเป็นชื่ออย่างคล้องจองกัน เช่น ท่าเสือออกเหล่า ท่าย่างสามขุมท่ากุมภัณฑ์ถอย ทัพท่าลับหอกโมกขศักดิ์ ท่าตบผาปราบมาร ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหางกวางเหลียวหลัง ท่าไก่เลียบเล้า ท่าน้าวคันศร ท่ากินนรเข้าถ้ำ ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ ท่าทรพีชนพ่อ ท่าล่อ เช่น กาเต้นก้อนขี้ไถหวะพายย้ายสามเส้าน้าวเฮียวไผ่ไล่ลูกแตกช้างม้วนงวงทวงฮักกวักซู้แหลวถลากาตากปีกเลาะเลียบตูบ

          จากการส่งเสริมให้มีการแสดงรำมวยโบราณอย่างเอาจริงเอาจังไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัลทำให้โรงเรียนต่างๆทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายแห่งฝึกหัดรำมวยโบราณไว้สืบเนื่องต่อมานับเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมวยโบราณไว้คู่กับเมืองสกลนคร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ถนนศูนย์ราชการ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร ๔๗๐๐๐

โทร.๐๔๒-๗๑๖-๒๔๗  โทรสาร.๐๔๒-๗๑๖-๒๑๔
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม