องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ศิลปินดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่น
นายเตียง ศิริขันธ์

วันที่ 8 ก.ค. 2559
 
          ประวัติ นายเตียง ศิริขันธ์ เป็นชาวสกลนครโดยกำเนิดเกิด พ.ศ.๒๔๕๒ บิดาชื่อขุนนิเทศ พานิชย์ (บุดดี ศิริขันธ์) มารดาชื่อนางอ้ม ศิริขันธ์ บิดาเป็นนักธุรกิจมีคนนับหน้าถือตาหนึ่งในจังหวัดสกลนครในสมัยนั้น เป็นพ่อค้าผู้ควบคุมกองเกวียนส่งของออกไปขายต่างจังหวัด และซื้อของต่างจังหวัดมาขายในเมืองแต่ละครั้งจะมีพ่อค้านำกองเกวียนร่วมไปด้วย ๒๐-๓๐ราย เดินทางไปจนถึง ขอนแก่น นครราชสีมา หรือกรุงเทพฯ เป็นแรมเดือนบางครั้งก็นำวัวไปขายถึงเมืองมะละแหม่ง-ย่างกุ้ง นับว่ามีรายได้ดีจนมีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่งของสกลนคร ขุนนิเทศพา นิชย์ มีบุตรรวม ๙ คน คือ
    ๑.นายเนียม
    ๒.นายเจียม
    ๓.นางบุญเทียม บำเพ็ญสิทธิ์
    ๔.นางเกี่ยง
    ๕.นายเที่ยง
    ๖.นายเตียง
    ๗.นางคำเปลว ขื่นสำราญ
    ๘.นายนุ่ม
    ๙.นายนวม(พีระ)
 
          นายเตียงมีภรรยา ๑ คน คือ นางนิวาศน์ ศิริขันธ์ และ มีบุตร ๑ คน ชื่อนายวิฑูร์ เกิดในปี พ.ศ.๒๔๘๕ หลังจากนางนิวาศน์เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแล้ว ไม่ช้านายวิฑูรก็ออกจากบ้านในกรุงเทพมหานครโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย
 
การศึกษา
 
          นายเตียง ศิริขันธ์ เริ่มเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เป็นคนเรียนหนังสือเก่งเมื่อเรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนประจำจังหวัดแล้ว นายฮ้อย บุดดี ได้ส่งตัวมาเรียนต่อที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนประจำมณฑลและมีการสอนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ สูงกว่าโรงเรียนอื่นๆในมณฑลอุดรธานี โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้าน ร.ต.อ.ขุนรักษ์ นิกร(เกิดตราชู)บุตรเขยของขุนศรี ธนานนท์     
          เมื่อนายเตียงเรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลเแล้ว นายฮ้อยบุดดีได้ให้นายเตียงเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศในกรุงเทพ ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมใน พ.ศ.๒๔๗๐ คือเ มื่ออายุได้ ๑๘ ปี เทียบเท่ากับ ม.๘ ในสมัยนั้น ต่อจากนั้น นายเตียง ได้สมัครเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยต่อเลือกสายอักษรศาสตร์เป็นวิชาเอกและเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะจบปีที่ ๓ ได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม(ป.ม.) ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่เปิดเรียนระดับปริญญาตรี ต่อมานายเตียงได้เข้าเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมหอวัง (อาคารเดิมตั้งอยู่ในกรีฑาสถานแห่งชาติ) อีก ๔ ปีต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๗ ทางราชการได้ย้ายนายเตียงไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของนายเตียงเอง โดยมีมล.มานิจชุมสายเป็นอาจารย์ใหญ่ วิชาที่นายเตียงสอนคือภาษาไทยภาษาอังกฤษประวัติศาสตร์ ขณะที่รับราชการเป็นครูถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ.๒๔๗๗ ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ต่อมาศาลยกฟ้องให้นายเตียงพ้นข้อหาไป
 
ผลงานของนายเตียงศิริขันธ์
          ภายหลังจากศาลยกฟ้องจากข้อหาคอมมิวนิสต์นายเตียงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทาง การดำเนินชีวิตหันเข้ามาเล่นการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม นายเตียง เข้ารับสมัครเลือกตั้งในจังหวัดสกลนครและได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในปีนั้น และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดสกลนครทุกสมัยเช่นใน พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งมีการเลือกตั้งโดยตรงนายเตียงก็ได้รับเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภาผู้แทน และมีความสนิทสนมกับ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์(ส.ส.อุบลราชธานี) นายถวิล อุดล(ส.ส.ร้อยเอ็ด) และนายจำลอง ดาวเรือง(ส.ส.มหาสารคาม) มีความใกล้ชิดชื่นชม นายปรีดี พนมยงค์ จนเป็นที่ไว้วางใจหลังจากที่นายเตียงเป็น ส.ส. ไม่กี่ปี ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ประเทศไทยในสมัยจอมพลป.พิบูล สงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรบและร่วมรุกกับญี่ปุ่น นายปรีดี พนม-ยงค์ ไม่เห็นด้วย และ ถูกผลักดันให้พ้นจากตำแหน่งการเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
          นายปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าควรติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้เข้าใจสภาพอันแท้จริงของไทย ที่ต้องเสียอิสรภาพจึงได้มีการติดต่อกับ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ จีน นายเตียงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเสรีไทย ประจำภาคอีสานทำการชักชวนชาวบ้านร่วมฝึกอาวุธ เป็นกองทัพประชาชนจัดทำสนามบิน ๓ แห่ง ที่บ้านโนนหอม บ้านเต่างอย และ ตาดภูวง นับว่าเป็นการเสี่ยงภัยในขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึก และเสี่ยงภัยต่อการถูกญี่ปุ่นจับประหารชีวิต แต่โชคดีที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงคราม ทหารป่าเสรีไทยได้ไปเดินสวนสนามที่กรุงเทพฯในปลายเดือนกันยายน ๒๔๘๘ เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งให้ทางราชการต่อไป ชีวิตนายเตียง ศิริขันธ์ หลังสงครามญี่ปุ่น ได้เป็นคณะรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาล ๓ ครั้ง ครั้งที่๑ระหว่างวันที่๓๑สิงหาคม - ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ ในสมัยรัฐบาล นายทวี บุณยเกตุ ครั้งที่ ๒ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายาน ๒๔๘๘ – ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙ ครั้งที่ ๓ ในคณะรัฐบาล พลเรือเอก ถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ แต่ต่อมาในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๐ นายเตียงได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อต้องเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นรองตัวแทนการเจรจาประนีประนอมระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส
          ภายหลังที่สี่รัฐมนตรีถูกฆ่าตายอย่างทารุณ นายเตียงไม่ไว้ใจสถานการณ์ทางการเมือง จึงตัดสินใจหนีขึ้นภูพานพร้อมลูกน้องจำนวนไม่กี่คน ซึ่งต่อมาทางการได้ตั้งข้อหานายเตียงว่า "แบ่งแยกดินแดน" ท่ามกลางการติดตามไล่ล่าตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ต่อมามีผู้พบศพ นายเตียง ศิริขันธ์ พร้อมด้วยบุคคลอื่นๆอีกที่ป่าแห่งหนึ่งในตำบลแก่งเสี้ยนอำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี คาดว่าบุคคลดังกล่าวถูกฆ่าตามเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๕ นายเตียงได้ฉายาว่า "ขุนพลภูพาน" คือเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ในการฝึกหัดเสรีไทย นับเป็นพันคนหลายรุ่นมีอัธยาศัยไมตรีจนเป็นที่ไว้วางใจของชาวสกลนคร ความเด็ดเดี่ยว อุดมคติที่ต่อสู้กับนักการเมืองที่มีอิทธิพลทำให้เขาถูกยัดเยียดข้อหาฉกรรจ์ในสมัยนั้น จนถูกฆ่าตายในที่สุดสมควรที่จะเป็นวีรบุรุษคนสำคัญของสกลนคร

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ถนนศูนย์ราชการ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร ๔๗๐๐๐

โทร.๐๔๒-๗๑๖-๒๔๗  โทรสาร.๐๔๒-๗๑๖-๒๑๔
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม