องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ศิลปินดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่น
พระยาประจันตประเทศธานี

วันที่ 8 ก.ค. 2559
 
ประวัติ
อำมาตย์โทพระยาประจันตประเทศธานี
 
          อำมาตย์โทพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำพรหมสาขา) ตช.ตม.รปช.ฯลฯผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนที่ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๓๘๒ เป็นบุตรราชวงศ์ (อิน) เมืองสกลนครบ้านเดิมอยู่ตำบลเชิงชุม ในจังหวัดสกลนคร ได้ศึกษาอักขระสมัยตามประเพณีบ้านเมืองในสมัยโน้น รู้หนังสือไทย และ รู้หนังสือลาว โดยสมควรเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ อายุ๑๙ปี ได้เข้ารับราชการรับหมายตั้งเป็น ท้าวสุริย ตำแหน่งนายกอง ถึงพ.ศ.๒๔๑๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระศรีสกุลวงศ์ ผู้ช่วยเมืองสกลนคร ถึงพ.ศ.๒๔๒๐ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาประจันตประเทศธานี ผู้ว่าราชการเมืองสกลนครมาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โทเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ก็ได้รับพระราชทานมาโดยลำดับ ได้รับพระราชทานถึงสูงที่สุด คือ ช้างเผือกชั้นที่ ๓ ตรีตาภรณ์ และ มงกุฎชั้นที่๓ตรีตาภรณ์ กับ เหรียญปราบฮ่อ และ เหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีต่างๆตามบรรดาศักดิ์อีกหลายอย่าง
          จังหวัดสกลนคร แต่โบราณเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก เหมือนกับหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งจัดเป็นมณฑล อุบล อุดร และ ร้อยเอ็ด ในปัจจุบันนี้ เดิมขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง ขึ้นกรุงศรีสัตนาคนหุตบ้าง เมื่อพวกเวียงจันทน์เป็นขบถ ในรัชกาลที่ ๓ กองทัพกรุงเทพฯตีได้หัวเมืองเวียงจันทน์ และ หัวเมืองขึ้นทั้งปวงจึงจัดหัวเมืองลาวทางตะวันออก ที่เป็นเมืองใหญ่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่นั้นมาพระยาประจันต ประเทศธานี(โง่นคำ) ได้รับราชการมีตำแหน่งในเมืองสกลนครแต่ยังปกครองเป็นอย่างหัวเมืองลาว คือตำแหน่งกรมการมีเจ้าเมืองอุปฮาดราชวงค์ราชบุตรเป็นต้น เหมือนอย่างเมืองประเทศราชแต่มิได้มียศเป็นเจ้าเป็นผู้ซึ่งปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาด และซื่อตรงจงรักภักดีในราชการกรุงเทพมหานครพระยาประจันตประเทศธานี ป่วยเป็นโรคชราถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๖ คำนวณอายุได้๘๕ปี 
 
ผลงาน
          ได้เคยรับราชการหลายอย่างเป็นลำดับ
    ๑.เมื่อเป็นที่ท้าวสุริยภักดี ได้นำเลกไปสักแขนที่เมืองยโสธรครั้งหนึ่ง
    ๒.เมื่อเป็นพระศรีสกุลวงศ์ ผู้ช่วยได้คุมไพร่ไปเข้ากองทัพพระยามหาอำมาตย์ รบฮ่อที่เมืองเวียงจันทน์ค่ายสี่ฐานค่ายวัดจันทน์แตก ได้ตามจับฮ่อถึงบ้านโพนงามบ้านน้ำเกลี้ยงจับไต้ฮ่อ๓คนส่งให้แม่ทัพครั้งหนึ่ง
    ๓.เมื่อเป็นพระอุปฮาด ได้คุมไพร่ไปเข้ากองทัพพระยาราชวรานุกูล ถึงเมืองบริคันนิคม เมื่อบิดาถึงแก่กรรมพระยาราชวรานุกูล ให้กลับมารักษาบ้านเมือง แล้วได้แต่งกรมการส่งเสบียงลำเลียงกองทัพพระยาราชวรานุกูล ให้กลับมารักษาบ้านเมือง แล้วได้แต่งกรมการส่งเสบียงลำเลียงกองทัพพระยาราชวรนุกูล ครั้งหนึ่งและได้จัดท้าวเพี้ย พร้อมกับจะมื่นมณเฑียรพิทักษ์ข้าหลวงไปตั้งประตูด่านทางแขวงเมืองภูวดลสอางครั้งหนึ่ง และได้ส่งลำเลียงกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเมื่อครั้งปราบฮ่อที่ทุ่งเชียงคำครั้งหนึ่ง
    ๔.เมื่อเป็นพระยาประจันตประเทศธานี ได้จัดเอากระบือ๒๑ตัวส่งขึ้นไปให้พระยาศรีสุริวงศ์ข้าหลวงเมืองเชียงขวางจ่ายให้พวกทำนาครั้งหนึ่ง ได้จัดกรมการท้าวเพี้ยพร้อมกับหลวงณรงค์โยธาข้าหลวงขึ้นไปปักหลักด่านทางเมืองวังคำและตามไปส่งถึงเมืองนครพนมครั้งหนึ่ง และได้จัดกรมการพร้อมกับหลวงมลโยธานุโยคข้าหลวงขึ้นไปประจำรักษาด่านอยู่เมืองวังคำ และตามไปส่งถึงเมืองนครพนมด้วยกับได้ส่งลำเลียงมลโยธาฯ ๓ ครั้งได้จัดท้าวเพี้ย และพาหนะส่งหม่อมหลวงชื่นข้าหลวงกองแผนที่ลงเรือไปทางน้ำก่ำครั้ง๑ได้จัดท้าวเพี้ยส่งมองสิเออคอมิแซมองสิเออแกวฝรั่งเศสข้าหลวงกองแผนที่ไปเมืองกาฬสินธุ์ ทางไปธาตุพนมทางหนึ่ง ไปจัดท้าวเพี้ยส่งพาหนะหม่อมราชวงศ์ชิดหม่อมราชวงศ์ชื่น ไปเมืองหนองหาญครั้งหนึ่ง
    ๕.เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ เกิดทัพในระหว่างฟากโขงฝั่งซ้ายได้จัดให้อุปฮาดเป็นพนักงานเร่งเกวียนโคต่างไปส่งกองทัพที่เมืองนครพนม ให้ราชวงศ์เป็นพนักงานเร่งเรือบรรทุกลำเลียงไปส่งกองทัพที่เมืองมุกดาหาร เมืองเขมราฐ ให้ราชบุตรเป็นพนักงานเร่งกำลัง และทำลูกกระสุนดินดำสำรวจปืนอาวุธมารวมให้พระวิชิตพลหาญผู้ช่วยพระห้าวหาญพระจันทวงศ์ เทพท้าวสุริยวงศ์ ไปเข้ากองทัพและให้ราชบุตรเป็นพนักงานทำบัญชี ซื้อข้าวของราษฎรมารวมขึ้นฉางไว้สำหรับส่งกองทัพ และให้พระศรีสกุลวงศ์ผู้ช่วยพระขัตติยะพระวรสาร พระศรีวราช เป็นพนักงานออกไปสำรวจข้าวเมืองขึ้นฉางไว้สำหรับราชการครั้นเสด็จราชการทัพ แล้วโปรดเกล้าฯให้ตัดทางสายโทรเลข ปลูกพลับพลาไว้ที่เมืองสกลนครได้ให้ราชบุตร พระวิชิตพลหาญ ผู้ช่วยเป็นผู้คุมไพร่ปลูก ให้พระขัตติยะเป็นพนักงานคุมไพร่ตัดทางสายโทรเลข แต่เมืองสกลนครถึงเมืองพรรณนา ให้พระวรสาร เป็นพนักงานตัดทางสายโทรเลขเมืองพรรณนา ถึง บ้านพันนา ให้พระศรีสกุลวงศ์ผู้ช่วยคุมไร่ตัดทางสายโทรเลขแต่บ้านพันนาถึงเมืองหนองหาร
    ๖.เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๔ ได้นำสิ่งของต่างๆลงไปสมโภชพระนครที่กรุงเทพฯครั้งหนึ่ง
    ๗.เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐ ได้ลงไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จกลับจากประพาสประเทศยุโรปครั้งแรก เมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลพระยาประจันตประเทศธานี ก็ได้รับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดมากจนแก่ชรา จึงได้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการ เหตุด้วยพระยาประจันตประเทศธานีเป็นผู้คุ้นเคยราชการมามากไม่มีใครเหมือนในท้องที่สกลนคร จะเป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงก็ดี ข้าหลวงต่างพระองค์ก็ดีสมุหเทศาภิบาลก็ดี เมื่อจะใคร่รู้เรื่องราวกิจการอันใด ที่ได้เคยมีมาในเมืองสกลนครจะต้องปรึกษาพระยาประจันต-ประเทศธานีเป็นนิตย์ จึงนับว่าเป็นผู้ได้ทำประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองตลอดมา

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ถนนศูนย์ราชการ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร ๔๗๐๐๐

โทร.๐๔๒-๗๑๖-๒๔๗  โทรสาร.๐๔๒-๗๑๖-๒๑๔
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม