องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ประเพณีท้องถิ่น
กลองเส็ง

วันที่ 3 ส.ค. 2559

กลองเส็ง


          เป็นกลองสองหน้าหุ่นกลองทำด้วยไม้ขึ้นหน้าด้วยหนังดึงให้ตึงด้วยเชือกหนังมีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดยาวประมาณ 
๕๐ ซม. จนถึง ๑๕๐ ซม. โดยทั่วไปขนาดประมาณ ขนาดด้านหน้า ๑๘ ซม. ด้านหลังขนาด ๑๕ ซม.ความยาวของกลอง ๓๖ ซม. ชุดหนึ่งมี ๒ ลูก ใช้ตีด้วยไม้มะขามหรือไม้เล็งหุ้มตะกั่วที่หัว เสียงดังมาก


          กลองเส็งในที่นี้คือกลองที่ขุดด้วยไม้ ลักษณะปากกว้างก้นเล็ก ใช้หนังวัวหรือหนังควายแล้วแต่ความนิยมขึงหน้ากลองและก้นกลอง การเร่งให้หนังกลองตึงทำโดยการเร่งหรือคลายเชือกหนังที่ร้อยโยงแผ่นหนัง ส่วนวิธีการแข่งขันนั้นใช้วิธีนำกลองทั้งคู่ขึ้นไม้ขาหยังหันก้นกลองทั้งคู่เข้าหากัน ใช้ไม้โหมกระหน่ำด้วยแรงข้อและแขน ด้วยเหตุนี้กลองนี้ จึงแตกต่างจากกลองเส็งที่กลองหรือวางกลองโดยการนอนกับพื้นแล้วใช้ฆ้อนหรือ มือตีหน้ากลอง กลองเส็งดังกล่าวเท่าที่พบเห็นในจังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียงมี ๓ ขนาดคือ
1. กลองกิ่ง หรือ บางแห่งเรียกว่ากลองจิ่ง เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ หน้ากลองกว้าง ประมาณ ๕๐ ซม. ก้นกลองกลองกว้างประมาณ ๒๐ ซม. กลองชนิดนี้นอกจากจะใช้ตีแข่ง
ขันแล้ว ยังนิยมวางกลองนอนกับพื้นแล้วตีท่าทางต่างๆ ว่าลายกลอง
2. กลองแต้บ หรือ กลองแตบ หรือบางแห่งเรียกว่ากลองแต้ เป็นกลองขนาดกลางหน้า ประมาณ ๓๐ ซม. ก้นกลองกว้างประมาณ ๑๐ – ๑๕ ซม. 3. กลองแตบ หรือ กลองแซ่ เป็นกลองที่มีขนาดเล็กกว่ากลองแต้บ ไม่นิยมนำมาเส็งเท่า กลองแตบ การเส็งกลอง
คำว่า "เส็ง” แปลว่าการแข่งขัน การเส็งกลองคือการแข่งขันหรือประกวดตีกลองนั่นเอง กีฬาเส็งกลองในปัจจุบันจัดขึ้นในเทศกาลงานบุญไม่มากนัก หากไม่สนับสนุนฟื้นฟูขึ้นมาแล้ว กีฬากลองเส็งก็อาจหมดไปเช่นเดียวกับกีฬาพื้นบ้านหลายสิบชนิดที่มีเขียนไว้ในหนังสือเก่า
โดยข้อเท็จจริงการเส็งกลองช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะต้องมีการฝึกซ้อมและเข้าแข่งคณะหรือทีละหลายคน ในด้านสุขภาพร่างกาย ผู้ตีกลองเส็งต้องมีกำลังแขน ข้อมือและความทรหดอดทนเป็นเลิศจึงสามารถเอาชนะคูต่อสู้ในแต่ละรอบได้ นอกจากนี้การเส็งกลองยังช่วยให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และมีเพื่อนฝูงต่างหมู่บ้านอีกด้วย
          สนามเส็งกลอง มักจะจัดในบริเวณที่กว้างขวาง เช่น ลานวัดหรือสนามกีฬา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชมการแข่งขันได้สนุกสนานและเชียร์ฝ่ายที่ตนสนับสนุน ผู้จัดการแข่งขันจะทำไม้ขาหยั่งสามขา ที่เรียกว่า "ขาดุ่ง” ตั้งไว้สำหรับกลองเส็ง ๒ คู่ ที่ทำการแข่งขัน ความสูงของขาหยั่งนี้สูงพ้นศีรษะพอที่จะให้ยืนตีกลองได้ถนัดมือ การแต่งกายของผู้เส็งในสมัยโบราณแต่งตัวรัดกุม นุ่งผ้าเตี่ยวเหน็บชายผ้า ปล่อยให้เห็นลายสักที่ขาเป็นรูปสัตว์หรือลวดลายพฤกษา ไม่สวมเสื้อเพื่ออวดกล้ามเนื้อที่แผ่นอกและลำแขน บางคนโพกผ้ายันต์หรือผ้าขาวม้า แต่ในปัจจุบันผู้เส็งกลองเพียงแต่งตัวให้รัดกุมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้าเส็งกลองมักจะเป็นผู้ที่ได้ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี มีกำลังแขนและกำลังข้อมือเพราะการสปริงข้อมือเป็นสิ่งสำคัญ ไม้ตีกลองเส็ง ใช้ไม้เหนียวไม่แตกง่ายหักง่าย ไม้ที่มีคุณภาพเช่นนี้ เช่น ไม้มะขาม ไม้เหมือดแอ่ ไม้เค็ง ไม้เหล่านี้นามาเหลาให้กลมขนาดปลายนิ้วก้อย ยาวประมาณ ๑ ศอก ทุกคณะต้องเตรียมไม้สำรองไว้หลายคู่ ปลายที่ใช้มือจับต้องพับผ้าให้แน่นเพื่อมิให้เจ็บมือ หรือหลุดมือในขณะตีกลอง ส่วนไม้ตีกลองกระแตบหรือกลองแต้นั้นนิยมหุ้มตะกั่วที่ปลายไม้เพื่อให้เกิดเสียงหวีดหวิวเล็กแหลม แต่ก็อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ยืนชมรอบๆ ได้ถ้าไม้หัก การเข้าน้ำกลอง
ก่อนที่จะนำกลองเส็งของตนเข้าแข่งขัน เจ้าของจะต้องนำกลอง ทั้ง ๒ ลูก ไปเข้าน้ำก่อน การเข้าน้ำ หรือการให้น้ำ คือการนำกลองมาวางที่รางไม้ไผ่ ๒-๓ ลำ เพื่อให้เกิดความสะดวกเมื่อกลิ้งกลอง
          การเข้าน้ำกลองโดยทั่วๆ ไป คือการทำให้หนังหน้ากลองนุ่ม มีความยืดหยุ่นไม่ขาดง่ายและในขณะเดียวกันเมื่อหนังเริ่มแห้งหนังจะรัดตัวหน้ากลองจะตึงเสียงกลองจะดังแหลมสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การเข้าน้ำกลองก็มีเทคนิคมากมายไม่แพ้การทำตัวกลอง เช่น ถ้าเข้าน้ำมากเกินไปหนังกลองจะนุ่มเสียงกลองก็จะทุ้ม แต่ถ้าเข้าน้ำน้อยเสียงกลองก็จะแข็ง หนังกลองอาจฉีกขาดได้ เมื่อตีแรงๆ ในกลุ่มชาวข่าโซ่ ซึ่งนิยมกีฬากลองเส็งในเขตการแห่งานบุญตามเทศกาลทางศาสนา หรือ การตีเพื่อประกอบจังหวะฟ้อนต่างๆ เช่น ฟ้อนภูไทยสกลนคร ดังนั้นจังหวะกลองจึงช้าสง่างาม สอดคล้องกับการฟ้อนร่ายรำ และผู้ฟ้อนรำก็ยังสามารถนับจังหวะกลองได้ขณะที่นักดนตรีตีจังหวะพื้นฐานนั้น อาจตีจังหวะสอดแทรกได้หลายแบบทำให้เกิดเสียงกลองเป็นจังหวะย่อยๆ ขึ้น พร้อมกันนั้นก็อาจแสดงท่าทางที่เรียกว่า "ลายกลอง” ประกอบไปด้วย เช่น เสือลากหาง ผู้ตีกลองจะส่งแขนทั้งสองไปด้านหลังขณะที่เอี้ยวตัวพร้อมกับตีไปที่หน้ากลองพร้อมกัน
          ไม้ลอดขา ในขณะที่ตีกลองอาจพลิกแพลงยกแข้งยกขาข้างหนึ่งขึ้นและส่งไม้ตีกระทบกันในจังหวะว่าง ไก่เลียบครก ผู้แสดงจะหมุนตัวรอบกลองแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตีให้ถูกหน้ากลองลูกใดลูกหนึ่ง นับว่าเป็นท่าแสดงยากที่ต้องใช้ความชำนาญ กาเต้นก้อน เป็นท่าเลียนแบบการกระโดดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผู้แสดงลายกลองจะแยกกลองสองลูกออกจากกันขณะที่ข้ามกลองลูกหนึ่งในท่ากระโดดมือก็จะต้องตีกลองทั้งสองลูกพร้อมกัน กวางเหลียวเหล่า ผู้แสดงจะยื่นไม้ลักษณะไขว้กันไปข้างหน้า พร้อมกับหันหน้าไปตามทิศทางของไม่ในท่ากวางระวังภัยเมื่อย่างออกจากป่าละเมาะที่อาศัย นกเขากระพือปีก ผู้เล่นลายกลองจะย่อตัวในท่านั่งตีกลองในจังหวะแทรกให้มีเสียงดังแตกต่างจากตีหน้ากลอง
เคาะหลังงูสิง ผู้แสดงลายกลองจะใช้ไม้เคาะที่ตัวกลองในจังหวะแทรกให้มีเสียงดังแตกต่างจากตีหน้ากลอง
ลิงไขว้หลัง ในท่านี้ผู้ตีกลองจะส่งไม้ไปข้างหลังตีกระทบกันให้มีเสียงดังในจังหวะที่ต่อจากจังหวะพื้นที่ลงหน้ากลอง
ลายกลองของชาวโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบันได้มีศิลปินชาวโส้ประดิษฐ์ท่าทางหรือลายกลองในขณะที่ตีกลองและแบ่งลายกลองออกเป็น 2 ชนิด คือ
          ลายใหญ่ หรือ ลายหลัก มี 4 ลาย คือ ลายเสือลากหาง ไม้ลอดขา ไก่เลียบครก กาเต้นก้อน ลายย่อย หรือ ลายสลับ มี 4 ลาย ได้แก่ กวางเหลียวเหล่า นกกระพือปีก เคาะหลังงูสิง ลิงไขว้หลัง การเล่นลายกลอง "ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ตีกลองจะเริ่มจากลายใดก่อน” และจะต้องแสดงด้วยลายใด "ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสวยงาม” การเล่นลายกลองนี้ผู้เล่นอาจแสดงลายกลองพร้อมกัน 2 คนก็ได้ แต่ อาจต้องละเว้นลางลาย เช่น ไก่เลียบครก กาเต้นก้อน เพราะการเล่น 2 คนไม่อาจหลีกเลี่ยงการชนได้ในขณะที่แสดง การแสดงของชาวโส้มิใช่แสดงโดยทั่วๆ ไป แต่จะมีเฉพาะในงานที่ชาวโส้จัดขึ้น เช่น งานเทศกาลโส้รำลึก ที่มีชาวโส้และหมอเหยามาร่วมชุมนุมจำนวนมากที่บริเวณหน้าอำเภอกุสุมาลย์ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนที่นักฟ้อนชาวโส้จะฟ้อนท่าต่างๆ เมื่อดนตรีบรรเลงขึ้นนักแสดงลายกลองก็จะแสดงลวดลายตีกลองให้ประชาชนในงานได้ชมความสามารถและลีลา
          การแต่งกายของผู้แสดงลายกลอง แต่เดิมนุ่งผ้าเตี่ยวปล่อยชายเป็นหาง ที่เรียกว่านุ่งผ้าแบบเสือลากหาง ไม่สวมเสื้อแต่ในปัจจุบันแต่งกายแบบพื้นบ้านทั่วๆ ไป เมื่อดนตรีบรรเลงทำนองชาวโส้แล้ว ผู้แสดงลายกลองก็จะก้มกราบรำลึกครูบาอาจารย์แล้วถือไม้ที่ตีกลองกิ่ง 2 ลูก ตีหน้ากลองพร้อมกันเป็นสัญญาณเริ่มแสดงลายกลองตามแบบฉบับของตน
ประเพณี "เส็งกลอง” เป็นหนึ่งในหลากหลายประเพณีที่ชาวอีสานในบางท้องถิ่นยังคงปฏิบัติ ยึดมั่นเป็นเกมกีฬาสร้างความบันเทิง และความสามัคคีให้เกิดกับสังคมตัวเอง เช่นเดียวกับประเพณีแข่งเรือ การแข่งขันชักว่าว การแข่งขันวิ่งควาย ฯลฯ
คำว่า "เส็ง” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหมายว่า ประลอง หรือ แข่งขัน ประเพณี "เส็งกลอง” มักจะนิยมเล่นหลังจากเก็บพืชแล้วในแต่ละปี ส่วนมากจะประมาณตั้งแต่ เดือนสามถึงเดือนหก โดยจัดให้มีการเส็งในงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุญเดือนสาม ตรุษสงกรานต์ จนกระทั่งบุญบั้งไปไฟหรือบุญเดือนหก
กลองที่ใช้เส็งส่วนมากทำด้วยไม้ประดู่ หน้ากลองที่ห่อหุ้มด้วยหนังควายที่มีความเหนียวเฉลี่ยอายูควายประมาณ 10 ปีขึ้นไป ขนาดของกลองสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ไม้สำหรับตีนั้นค่อนข้างจะทำกันอย่างพิถีพิถัน ส่วนใหญ่จะทำจากไม้มะขาม หรือเชือก เพราะมีความเหนียวและคงทนใช้ผ้าพันรอบถักเป็นลวดลายด้วยเชือกรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการตีแล้วไม้หักจะได้ไม่ต้องกระเด็นไปถูกคนดูให้เกิดอันตรายและป้องกันไม่ให้เกิดเจ็บมือ ปลายของไม้จะหุ้มด้วยการหลอมตะกั่วให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าไข่ไก่ ความยาวและขนาดของไม้ส่วนมากจะทำให้เหมาะมือของผู้ใช้เอง
ตามความเชื่อก่อนที่จะนำขบวนเส็งกลองไปเส็ง ณ ที่ใดก็ตาม หัวหน้าพร้อมลูกทีมจะต้องยกครู บูชาครู นิยมใช้ธูป 5 คู่ เทียน 5 คู่ และดอกไม้ 5 คู่ คนไนท้องถิ่นเรียกว่า "ขันห้า” จากนั้นก็จะยกขบวนเซ่นไหว้ปู่บ้านเมื่อก่อนการคมนาคมไม่สะดวกก็มักเดินด้วยเท้ามีขบวนกลองยาว พิณ แคน แห่แหนไปอย่างสนุกสนาน แต่ทุกวันนี้บางท้องถิ่นใช้รถอีแต๋นซึ่งมีทุกหมู่บ้าน
การเส็งกลองจะมีการแข่งขันกันเป็นคู่ๆ จะเอาทีมที่ชนะในแต่ละคู่ไว้เพื่อแข่งขันในรอบต่อไป การวัดว่าทีมใดเสียงดังที่สุดก็โดยการใช้ชามอ่างขนาดใหญ่ใส่น้ำจนปริ่มแล้วใส่ขันน้ำขนาดใบเล็กๆ ใส่น้ำพอประมาณ เมื่อเริ่มเส็งจะวางขันน้ำไว้ตรงกลางระหว่างทีมเข้าแข่งขัน ด้วยแรงสียงดังจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนขันน้ำในชามอ่างจะลอยไปตามแรงกระเพื่อมของน้ำ ถ้าขันน้ำใบนั้นลอยไปชิดของอ่างด้านใด ถือว่าทีมนั้นแพ้ แต่ทุกวันนี้หลายท้องที่นิยมใช้เครื่องวัดความดังของเสียงมาวัดเพื่อเพิ่มความเที่ยงตรงมากขึ้น กลองมีความผูกพันกับชาวอีสานและชาวไทยมาตั้งแต่โบราณกาล เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีนาฬิกาจะใช้กลองเพลตีให้สัญญาณ ส่วนกลองอีกหลายชนิดใช้ตีเพื่อประกอบจังหวะท่วงทีต่างๆ เช่น รำเซิ้ง รำกลองยาว ฟ้อนกลองตุ๊บ หรืออื่นๆ ยังมีกลองอีกประเภทหนึ่งใช้ตีเพื่อประกอบจังหวะในการแห่บั้งไฟ หรือบุญเดือนหก และใช้ตีแข่งขันกัน หรือเส็งกลองในงานบุญบั้งไฟให้งานบุญบั้งไฟมีสีสันและทวีความคึกคักขึ้น
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ถนนศูนย์ราชการ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร ๔๗๐๐๐

โทร.๐๔๒-๗๑๖-๒๔๗  โทรสาร.๐๔๒-๗๑๖-๒๑๔
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม