ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
 
ประวัติ /ความเป็นมา
          อำเภอพระประแดง เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองหน้าด่านของปากแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เพื่อป้องกับการรุกรานของข้าศึกที่ยกมาทางทะเล ชาวพื้นเมืองเดิมของเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง เป็นชาวรามัญหรือมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทยเป็นเวลากว่าร้อยปีมาแล้ว
          สันนิฐานว่า ชาวรามัญเริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ เมื่อ พ.ศ. 2127 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2318 ปรากฏว่ามีชาวมอญอพยพเข้ามาราวหมื่นคนทางด้านจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนนทบุรี ตั้งแต่ปากเกร็ดถึงปุทมธานี ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีพวกมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ได้ทรงสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้ว จึงโปรดให้อพยพครอบครัวมอญจากเมืองปทุมธานี โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้าไปอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาโปรดให้สมิงทอบุตรชายพระยาเจ่ง เป็นเจ้าเมืองเขื่อนขันธ์ หรือเมืองพระประแดง
กล่าวได้ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมมอญ จึงฝังรากแน่นแฟ้นในเมืองพระประแดงถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นคนไทย แต่ยังรักษาประเพณีเดิมไว้เป็นอย่างดี ทางจังหวัดสมุทรปราการและชาวอำเภอพระประแดง จึงได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์พระประแดงขึ้น เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ของไทย และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีของชาวรามัญเอาไว้ เช่น ประเพณีการปล่อยนกปล่อยปลา การเล่นสะบ้า โดยจัดร่วมกับงานสงกรานต์ทุกปี กำหนดงาน
หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ 1 อาทิตย์ ณ อำเภอพระประแดง

กิจกรรม /พิธี
เริ่มขึ้นก่อนวันสงกรานต์จะมาถึง โดยชาวบ้านจะเตรียมบ้านเรือนให้สะอาด นำเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้มาใช้จ่ายเพื่อการรื่นเริงในวันสงกรานต์ มีการกวนกาละแม ข้าวเหนียวแดง เพื่อทำบุญตักบาตรหรือแจกจ่ายญาติพี่น้อง ผู้ที่คุ้นเคยและเคารพนับถือ การกวนกาละแมเป็นเรื่องความสนุกสนานของหนุ่มๆ สาวๆ โดยบ้านใดกวนกาละแมก็จะไปบอกเพื่อบ้านใกล้เคียงให้มาช่วยกัน เพราะกาละแมกระทะหนึ่งต้องใช้เวลากวนถึง 6 ชั่วโมง จึงได้ที่โดยใน 1 วัน จะกวนได้ 2 กระทะเท่านั้น หนุ่มๆ ทำหน้าที่กวน และการกวนกาละแมจะหยุดไม่ได้ เพราะจะทำให้ไหม้ จึงต้องกวนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสุราอาหารและคุยกันระหว่างหนุ่มๆ สาวๆ เมื่อถึงวันสงกรานต์ มีการส่งข้าวสงกรานต์ หรือที่เรียกว่า "ข้าวแช่” ข้าวที่หุงเป็นข้าวสงกรานต์นั้นต้องใช้ข้าวเปลือก 7 กำใหญ่ ตำเป็นข้าวสาร ฝัดรำทิ้ง 7 หน เมื่อเวลาจะหุงข้าวต้องซาวน้ำล้าง 7 ครั้งครั้นเป็นข้าวสวยแล้วต้องนำมาล้างอีก 7 หน จึงนำไปแช่น้ำสะอาดอบร่ำด้วยดอกมะลิ ในภาชนะที่ทำด้วยดิน เช่น อ่างดิน หรือหม้อดินเพื่อให้เย็น ถือว่าอยู่เย็นเป็นสุข กับข้าวที่จะรับประทานกับข้าวสงกรานต์ต้องทำจากพืช เช่น ถั่ว งา และผักต่างๆ ไม่นิยมทำจากเนื้อสัตว์ โดยนำข้าวสงกรานต์ไปถวายพระที่ในวัดตอนเช้าตรู่ระหว่างเวลา 6.00 – 8.00 น. ผู้ส่งนิยมใช้สาวๆ แต่ต้องนำข้าวสงกรานต์หรือข้าวแช่และกับข้าวที่เตรียมไว้บูชาท้าวมหาสงกรานต์เสียก่อน ที่สำหรับบูชาท้าวมหาสงกรานต์ปลูกเป็นศาลเพียงตา มีเสาสี่ต้นตกแต่งด้วยทางมะพร้าวและใบมะพร้าว ประดับธงเล็กๆ สีขาว เหลือง แดง เขียว ฯลฯ ศาลเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัศมีพื้นที่สำหรับวางเครื่องบูชา
          การส่งข้าวสงกรานต์นั้น มักใช้หญิงสาวเป็นคู่ๆ คือ สาวคนหนึ่งถือภาชนะใส่ข้าวแช่ ส่วนอีกคนหนึ่งถือภาชนะใส่กับข้าว ไปส่งตามวัดต่างๆ เพื่อให้พระฉันก่อนออกบิณฑบาต หรือลงศาลารับการทำบุญจากชาวบ้าน และห้ามรดน้ำสาวในเขตบริเวณวัด เพื่อมิให้น้ำที่รดผ่านผ้านุ่งของสตรีตกต้อง ธรณีสงฆ์แต่หลังจากส่งข้าวสงกรานต์ที่วัดแล้วรดน้ำได้ไม้ผิดประเพณี
           นอกจากการส่งข้าวสงกรานต์แล้ว ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์อีกด้วย โดยกำหนดวันที่จะไปสรงน้ำพระสงฆ์ให้เจ้าอาวาสทราบ ต่อจากนั้นจะสร้างซุ้มกั้นเป็นห้องน้ำด้วยทางมะพร้าว ปูพื้นด้วนแผ่นกระดานสำหรับให้พระเข้าไปสรงน้ำ รางน้ำที่ต่อเข้าไปในซุ้มยาวพอสมควร ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระกันอย่างทั่งถึง โดยจัดตั้งโอ่งน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำในโอ่งนี้สรงน้ำพระซึ่งจัดขึ้นในเวลาประมาณบ่าย 2 โมง หลังจากทำบุญเลี้ยงพระเพลหรือมีการจับสลากภัตถวายอาหารแด่พระสงฆ์แล้ว โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่มีอาวุโสสูงลงสรงก่อน ชาวบ้านจะใช้ขันของตนตักน้ำในโอ่งเทลงไปในราง น้ำจะไหลตามรางเข้าไปในซุ้มที่พระสรง ในระหว่างนี้จะมีคนคอยตะโกนบอกชาวบ้านให้หยุดเทน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้พระได้ถูเหงื่อไคลและชาวบ้านผู้ชายจะเข้าไปช่วยถูเหงื่อไคลพระด้วยก็ได้ เมื่อพระสงฆ์องค์หนึ่งสรงน้ำเสร็จก็นิมนต์พระองค์ต่อๆ ไป ในการสรงน้ำพระชาวบ้านจะเอาน้ำอบหอมเทปนลงไปกับน้ำในรางด้วยก็ได้ การสรงน้ำพระถือเป็นการขอพรและการกุศลทำให้อยู่เย็นเป็นสุข
          หลังจากสรงน้ำพระเสร็จแล้ว เป็นการรดน้ำของหนุ่มๆ สาวๆ โดยมี 3 ครั้งด้วยกัน คือ เมื่อสาวกลับมาจากส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่างๆ ระหว่างวันที่ 13,14 และ 15 เมษายน ตั้งแต้เวลาประมาณ 9.00 น. การรดน้ำในวันสงกรานต์ไม่ผิดประเพณีและไม่ถือโทษกัน แต่ต้องเป็นการรดน้ำโดยสุภาพครั้งที่สองเมื่อสาวๆ กลับจากสรงน้ำพระสงฆ์ตามวัด และการรดน้ำครั้งที่สามถือเป็นการรดน้ำครั้งพิเศษ คือ บ่ายของวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน เพราะบ่ายวันนั้นมีการสรงน้ำพระพุทธรูปในมณฑปวัดโปรดเกตุเชษฐาราม
          หลังจากรดน้ำสาวแล้ว ในตอนกลางคืนยังมีการเล่นสะบ้า อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวรามัญ การเล่นสะบ้ามี 2 ประเภท คือ สะบ้าประเภทเล่นกลางวัน เรียกว่า ทอยสะบ้าหัวช้าง และการเล่นสะบ้าบ่อนในตอนกลางคืน
การเล่นสะบ้าแบบหัวช้าง เป็นเรื่องของชายฉกรรจ์ คนทอยอยู่คนละข้าง มีสะบ้าหัวช้างข้างละ 5 ลูก โดยมากใช้ลูกสะบ้าจริงๆ ตั้งเป็นรูปค่ายทหารโบราณ คือ แนวนอน 3 ลูก ห่างกันพอสมควร ลูกที่ตั้งอยู่ทางซ้ายคือปีกซ้าย ลูกตรงกลางคือกองทัพหลวง ลูกทางขวาคือปีกขวา แนวตั้งสองลูกคือทัพหน้าและทัพหลัง ทั้งสองข้างอยู่ห่างกันประมาณ 14 – 15 วา การทอยเหมือนโยนโบว์ลิ่ง ใครทอยล้มหมดก่อนชนะ มีลูกทอยข้างละ 3 ลูก ลักษณะเหมือนจักรที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาขว้างจักร
 
สะบ้าบ่อน ในวันสงกรานต์จะเห็นสาวๆ ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ รวมกลุ่มกันตั้งบ่อนสะบ้าส่วนมากอยู่ตามใต้ถุนเรือนชั้นเดียว และมีสาวงามอยู่ประจำทุกบ่อน ก่อนเล่นต้องปรับดินให้เรียบเสียก่อนโดยใช้น้ำรดหมาดๆ แล้วเอาตะลุมพุกสำหรับตำข้าวทุบดินให้แน่น ต่อจากนั้นใช้ขวดกลึงให้เรียบความกว้างยาวของบ่อนขึ้นอยู่กับเนื้อที่ของใต้ถุนบ้าน ด้านหัวบ่อนใช้กระดานหนาๆ มาตั้งโดยเอาสันลงด้านหลังกระดานนี้มีม้ายาวตั้งอยู่หลายตัว เป็นที่นั่งของผู้เล่น กระดานนี้มีห้าที่รับลูกสะบ้าที่ผู้เล่นอีกฝ่ายทอยมากระทบไว้มิให้ลูกสะบ้ากระเด็นไป และป้องกันเท้าของผู้นั่งมิให้ถูกสะบ้าที่ทอยมา มีการประดับประดากระดาษสายรุ้งสีต่างๆ และปักธงเสาเรือนรอบๆ บ่อนสะบ้านั้น ทุกบ่อนมีผู้หญิงสูงอายุเป็นหัวหน้าบ่อน และดูแลเป็นพี่เลี้ยงสาวๆ ประจำบ่อน บ่อนสะบ้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีผู้เล่นทั้งฝ่ายชายและหญิงประมาณ 8 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน หญิงสาวแต่งตัวแบบสมัยโบราณอย่างสวยงาม
วิธีเล่นสะบ้า ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตั้งลูกสะบ้า เรียกว่า "จู” ให้ฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชายนั่งที่ม้านั่งตรงข้ามกับฝ่ายหญิง หัวหน้าฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน โดยเล่นท่าไหน คนต่อๆ ไปเล่นท่าเดียวกันนั้นจนครบทุกคน กติกาการเล่นสะบ้าแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่หมู่บ้าน แต่ละท่าต้องเล่นให้ถูกคู่ของตนหากถูกสะบ้าที่ไม่ใช่คู่ของตนถือว่าเสีย "อุย” ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตั้งรับกลับมาเล่นบ้าง ช่วงนี้ฝ่ายชายและหญิงจะได้คุยกัน การเล่นสะบ้าอาจจะเล่นไปจนสว่างหรือค่อนรุ่ง แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมบ่อน ฝ่ายแพ้จะถูกปรับหรือรำให้ดู ท่าเล่นประกอบด้วยชื่อต่างๆ คือ ทิ่นเติง เป็นท่าแรก ผู้เล่นนำลูกสะบ้าวางบนหลังเท้าแล้วโยนไปข้างหน้า แล้วดีดลูกสะบ้าไปถูกคู่ของตน ท่าต่อไป ได้แก่ จั้งฮะอยู่, อีเร็ด, ฮะเนิดเบา, ฮะเนิดป๊อย, อีโช, อีเกน, อีมายมับ, ตองเก้ม, มายฮะเกริ้น, มายโล่น, อะลองเดิง เป็นต้น ทั้งหมดมีประมาณ 12- 20 บท
          นอกจากที่กล่าวมาสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในงานสงกรานต์ของชาวพระประแดง คือ การปล่อยนกปล่อยปลา โดยมีตำนานอยู่ 2 ประการ คือ การช่วยชีวิตปลาที่ตกคลักอยู่ตามหนองบึงที่กำลังแห้งในฤดูแล้งชาวบ้านจะช่วยกับจับปลาไปปล่อยในที่มีน้ำ เพื่อให้พ้นความตายและเป็นการรักษาพันธุ์ปลาในทางอ้อมด้สยอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับโหราศาสตร์ คือ มีเณรองค์หนึ่งถกนักโหราศาสตร์ทำนายว่า ชะตาขาดต้องเสียชีวิตแต่บังเอิญระหว่างทางที่เดินทางไปเยี่ยมมารดา พบปลาตกคลักอยู่ในหนองแห้ง สามเณรจึงช่วยจับปลาเหล่านั้นไปปล่อยในคูน้ำ สามเณรจึงพ้นจากชะตาขาดด้วยการทำบุญปล่อยปลา จึงถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ การแห่ปลาของชาวพระประแดง ทำกันทุกปีระหว่างเทศกาลสงกรานต์ มีสาวรามัญร่วมขบวนแห่ นำปลาไปปล่อยในที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมเป็นปีๆ ไป ก่อนการแห่นกแห่ปลา เจ้าภาพจะเชิญสาวๆ มาร่วมขบวน โดยมอบหมากพลูให้คำหนึ่งต่อสาวคนหนึ่งถือเป็นประเพณี ถ้าสาวคนใดรับหมากพลูก็แสดงว่ายินดีมาร่วมงานขบวนแห่ ก่อนแห่เจ้าภาพจะเอานกใส่กรง และเอาปลาหมอใส่ขวดโหล โหลละ 2 - 3 ตัว เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ให้สาวๆ ที่เชิญมาถือกรงนกหรือโหลใส่ปลาเข้าร่วมขบวนแห่ไปตามถนน จนถึงสถานที่ปล่อยนกปล่อยปลา ในขบวนแห่ก็มีการละเล่นสลับ ได้แก่ แตรวง ทะแยมอญ เถิดเทิง ร่วมขบวนไปเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง เวลามักเป็นเวลาประมาณ 15.00 น. นอกจากนั้นยังมีการประกวดนางสงกรานต์ด้วย
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


อาคารศูนย์เบญจบูรพาสุวรรณภูมิ ถนนสุขุมวิท ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10280 โทรสาร:02-7076137 ต่อ15

สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม