กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๑๘/o๗/๒๕๖๕

ชุมชนแหลมสัก


ชุมชนแหลมสัก หมู่ที่ ๓ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

๑. การบริหารจัดการชุมชน

๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ผู้นำชุมชนแหลมสัก เป็นคนแหลมสักโดยกำเนิด ทำให้รู้และเข้าใจบริบทของชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านทำเลที่ตั้ง ธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชนแหลมสัก เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชน โดยมีแนวความคิด หลักการ และวิธีการปฏิบัติที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง กล้าตัดสินใจ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บริหารงานภายในชุมชนโดยตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ใช้หลักการมีส่วนร่วม ด้วยวิธีการประชุมประชาคม ประชุมกรรมการและคณะทำงานเป็นประจำบ่อยครั้ง ซึ่งคณะทำงานได้มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกในชุมชน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชน โดยผู้นำชุมชนหรือประธานชุมชนมี การบูรณาการ การบริหารจัดการและทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน มีการดำเนินกิจการ เอื้อสังคม สร้างรายได้ กระจายรายได้ แบ่งปันรายได้ให้แก่กลุ่มคนทำงาน คนลงทุน และคนแหลมสัก ซึ่งเป็นเจ้าของชุมชนอย่างแท้จริง มีการกระจายและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำชุมชนแหลมสักหรือประธานชุมชน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อีกทั้งเกิดและเติบโตที่แหลมสัก จึงมีความรู้ ความเข้าใจความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งในอดีต สถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยแวดล้อมในชุมชน ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี บริบทต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี สามารถจะวางแผนและดำเนินงานพัฒนาชุมชนตรงตามความต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชุมชน รู้ว่าทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งการเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้งทำให้สมาชิกในชุมชน มีความเชื่อถือในศักยภาพของผู้นำจึงให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมของชุมชนเป็นอย่างดี มีส่วนร่วม เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ชุมชนแหลมสัก มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ อาทิ กลุ่มประมงชายฝั่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก-ปาเต๊ะ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเล กลุ่มไกด์ท้องถิ่น กลุ่มกล้วยไม้พื้นถิ่น และจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งชุมชนมีการ บูรณาการ ทำงานร่วมกันในชุมชนด้วยความเข้าใจ การสื่อสารที่ทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ดำเนินกิจการภายใต้แนวคิดของการที่อยากผลักดันและอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตดั่งเดิมของคนในชุมชน โดยยึดหลักสำคัญ คือความสุขของคนในชุมชนเป็นหลัก มีการบริหารจัดการกันเองภายในชุมชน รับผิดชอบต่อสังคม สร้างรายได้ กระจายรายได้ และแบ่งปันรายได้ อย่างเท่าเทียม และยั่งยืน

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
ชุมชนแหลมสัก มีการบริหารจัดการโดยชุมชน โดยคนในชุมชนลงทุนและให้ชุมชนมีส่วนร่วม และจัดสรรบางส่วนของรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างเท่าเทียม โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การสมัครเป็นสมาชิกและร่วมเป็นคณะกรรมการชุมชน มีกระบวนการคิดวางแผน ลงมือปฏิบัติ และร่วมรับประโยชน์จากการ จัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีการมอบเงินปันผลให้แก่สมาชิกทุกปี และมีการสนับสนุนสาธารณประโยชน์รวมทั้งมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวยากจนในชุมชน และมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนในชุมชน เมื่อชุมชนมีการจัดกิจกรรมก็จะได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยเหลือกัน เช่น งานประเพณีถือศีลกินเจ ซึ่งจัดในเดือนมีนาคมของทุกปี ณ ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย ผู้คนในชุมชนแหลมสัก ทุกเพศ ทุกวัย จะมาร่วมกิจกรรม แสดงให้เห็นถึงความรัก สามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างดี

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน
หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนแหลมสักอาทิ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ร่วมกับชุมชนฯ ติดตั้งป้ายแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว ป้ายบอกทาง ป้ายองค์ความรู้ จุดเช็คอินฯลฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ ร่วมกับชุมชนและศิลปินท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ เพ้นท์เรือหัวโทงให้มีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชุมชนแหลมสัก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทางทะเล สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกระบี่ ร่วมกับชุมชนฯจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยวและบริการกลุ่มธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามวิถีใหม่ ( New Narmal) คณะกรรมการหมู่บ้านฯ ร่วมกับกู้ชีพกู้ภัยอ่าวลึก จัดอบรมการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น เป็นต้น

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ชุมชนแหลมสัก โดยผู้นำชุมชน ประชุม พบปะ พูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค ชักชวนให้ชุมชนลดรายจ่ายในครัวเรือน มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคมด้วยพลังบวร อาทิ ชุมชนแหลมสัก ประสบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ผู้นำชุมชนจึงได้มีแก้ปัญหาโดย ในระยะแรก ได้นำเงินส่วนตัว -รถยนต์ส่วนตัว รับ-ส่งผู้ป่วยฯ จากบ้านพักไปยังสถานพยาบาล หลังจากนั้นชุมชนฯได้เห็นแบบอย่างจากผู้นำ กลุ่มวิสาหกิจต่างๆของชุมชน จึงได้รวบรวมขยะทะเล และร่วมบริจาคเงิน เพื่อนำเงินไปซื้อรถตู้สำหรับรับ-ส่งผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จากชุมชนเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที (ภายใต้โครงการทะเลปลอดอวน แหลมสักปลอดขยะ) (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม)

๑.๗ อื่นๆ
-

๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ /ภาษา /เครื่องแต่งกาย
ชุมชนแหลมสักมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม โดยเป็นแหล่งรวมของผู้คนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ได้แก่ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม(มลายู) และชาวไทยเชื้อสายจีน (จีนฮกเกี้ยน) ย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ แหลมสัก ชุมชนของกลุ่มชนทั้งสามวัฒนธรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เกิดวัฒนธรรมร่วมกันที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น มีการใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในการติดต่อสื่อสารในชุมชน ใช้ภาษาไทยกลางในการติดต่อราชการ สำหรับเครื่องแต่งการก็มีเอกลักษณ์เป็นตนเอง อาทิ ชุดบาบ๋าย่าหยาของชาวไทยเชื้อสายจีน ชุดฮิญาบของชาวไทยมุสลิม และชุดของ ชาวไทยพุทธ ซึ่งจะแต่งกันในวาระต่าง ๆ เช่น วันงานบุญประเพณี งานแต่งงาน เป็นต้น

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ชุมชนแหลมสักมีศิลปะการแสดงที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ชุดการแสดงเอกลักษณ์รำ ๓ วัฒนธรรม ซึ่งจะบอกถึงเรื่องราวการเดินทางของบรรพชนที่เดินทางมายังแหลมสักและร่วมก่อร่างสร้างตัว ณ ที่แห่งนี้ ชุดการแสดงรองแง็ง ที่มีความสวยงามทั้งลีลา เคลื่อนไหว เท้า มือ ลำตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนักเดินทางจากจากตะวันตกคือสเปนหรือโปตุเกตุ และชุดการแสดงลิเกฮูลู ของเยาวชนในชุมชนแหลมสักที่ได้รับอิทธิพลจากสามจังหวัดชายแดนใต้

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น /กีฬา การละเล่นท้องถิ่น
ชุมชนแหลมสัก มีเทศกาลประเพณีท้องถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมวันสำคัญตามตามประเพณี อาทิ ชาวไทยพุทธ มีงานประเพณีสารทเดือนสิบ งานสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์แหลมสัก (จัดในเดือน เมษายนของทุกปี) ชาวไทย เชื้อสายจีนมีงานประจำปีแซยิดซกโป้ซีเอี๋ย (จัดในเดือน มีนาคมของทุกปี) ประเพณีตรุษจีน คนไทยเชื้อสายอิสลามมีงานประเพณีถือศีลอด งานเมาลิดกลาง สำหรับการละเล่นท้องถิ่นของชุมชน ได้แก่ การเล่นหมากขุม การแข่งเรือ และกิจกรรมในเทศกาลสารทเดือนสิบ ปีนเสาน้ำมัน เดินพรก เป็นต้น

๒.๔ อาหารท้องถิ่น /ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
ชุมชนแหลมสัก มีอาหารท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์แปรรูปกะปิกุ้งตัก ซึ่งมีวัตถุดิบกุ้งเคยจากท้องทะเลอันดามัน ด้วยวิถีประมงพื้นบ้าน คือการช้อนตักกุ้ง จากท้องทะเลแหลมสัก สู่การแปรรูปเป็นกะปิ ได้แก่กะปิกุ้งตัก กะปิผัดข้าว กะปิหวาน (สำหรับกินกับผลไม่เปรี้ยว) และยังมีอาหารพื้นถิ่นเฉพาะของชุมชน นอกจากอาหารทะเลสดๆ ที่นำมาต้ม อบ นึ่ง ทอดแล้ว ชุมชนแหลมสักยังมีอาหารพื้นถิ่น อาทิ สาหร่ายสามเกลอ ซึ่งเป็นสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในกระชังกลางทะเลแหลมสัก ปลาจุกเครื่อง ปูม้าต้มจีเจ๊กฉ่าย ปลาทอดแดดเดียวไร้ก้าง สำหรับขนมท้องถิ่น ขอแนะนำ ขนมโกสุ้ย ขนมพื้นบ้านสไตล์บาบ๋า ขนมจากใจโดยนำใบของต้นจากที่มีอยู่มากมายในป่าชายเลนของชุมชนมาใช้ประโยชน์ นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำกิจกรรม ข้าวคลุกกะปิ ขนมโกสุ้ย และ ขนมจากใจได้


๒.๕ อื่นๆ
-
๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านศิลปิน หอศิลป์
ชุมชนแหลมสัก เป็นชุมชนที่มีการผสมผสานกันระหว่าง ๓ ศาสนา ได้แก่ ชาวบาบ๋า(จีนฮกเกี้ยน) ชาวมุสลิม(มลายู) และชาวไทยพุทธ ทำให้เกิดวัฒนธรรมร่วมกันที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยมีศาสนสถานสำคัญของแต่ละศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน ได้แก่ วัดมหาธาตุแหลมสัก เป็นมหาเจดีย์แห่งเดียวที่ตั้งอยู่ริมทะเล อันดามัน สามารถขึ้นชมทัศนียภาพ ๓๖๐ องศา อันงดงามตระการตาของชุมชนแหลมสักได้จากจุดชมวิวบน มหาเจดีย์วัดมหาธาตุแหลมสัก มัสยิดซอลาฮุดดีน หรือมัสยิดบ้านหัวแหลม ตั้งอยู่กลางชุมชนบ้านหัวแหลม และศาลเจ้าซกโป้ซี่เอี๋ย โดยมีสามแยกวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางห่างจากแต่ละศาสนสถาน ๑๕๐ – ๒๐๐ เมตร ชุมชนแหลมสักยังมีอาคารบ้านเรือน สไตล์ชิโนโปตุกีส อันเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของชุมชนหน้าตลาดและอาคารบลูเฮาร์ ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหยา
๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนแหลมสัก มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ ภาพเขียนสีผนังถ้ำโบราณใน "ถ้ำชาวเล” อายุกว่า ๓,๐๐๐ ปี รวมถึงสถาปัตยกรรมในชุมชนที่บางแห่งยังคงมีความเอกลักษณ์ดั้งเดิมสไตล์ ชิโนโปรตุกีสไว้

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนแหลมสัก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ต.แหลมสัก เป็นศูนย์เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติด้วยศาสตร์พระราชา โดยมีกิจกรรมปลูกผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ การเลี้ยงสัตว์ครบวงจร การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว พัฒนาและการออกแบบพื้นที่ตามรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล และเข้ารับการประเมินความอยู่เย็นเป็นสุข ความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสาน
ชุมชนแหลมสัก มีศูนย์เพาะขยายกล้วยไม้บ้านอ่าวน้ำ เป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิมไว้ โดยมีวิธีการแบ่งหน่อกล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์ออกเป็น ๓ ส่วนหลักๆ ๑. ส่วนที่นำมาเพาะขยายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ๒. ส่วนที่นำไปปลูกกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ ๓. ส่วนที่ให้สมาชิกนำไปจำหน่าย
ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมและเรียนรู้การเพาะพันธ์ขยายกล้วยไม้และทำ CSR ปลูกกล้วยไม้บริเวณ เขาช้างหมอบและการชมดอกกล้วยไม้ (ช่วยระยะเวลาที่กล้วยไม้ออกดอก คือตั้งแต่ ธค. - พค. ) รวมทั้งการทำCSR ปลูกต้นจากเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์แก่ธรรมชาติเขตป่าโกงกาง พืชเศรษฐกิจสารพัดประโยชน์ของชุมชน

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
ชุมชนแหลมสัก ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมที่ยื่นออกไปบริเวณทะเลในแหลมสักที่มีภูเขาหินปูนล้อมรอบทั้งสามด้าน ทำให้ไม่มีมรสุมหรือคลื่นสูงในบริเวณนี้ เหมาะกับการท่องเที่ยวเพราะสามารถท่องเที่ยวทางทะเลได้ตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางทะเลและภูเขา สามารถนั่งเรือออกไปยังเกาะและภูเขาหินปูนต่าง ๆ ที่สวยงามในบริเวณรอบๆได้ รวมถึงสามารถสัมผัสธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ของทะเลในแหลมสักทั้งบริเวณ อ่าวเหนา ป่าโกงกาง ผาค้อม ถ้ำเขาเล เหลาหัน/เขาเหล็กโคน และสามารถออกไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น โดยออกไปสำรวจกระชังเลี้ยงปลา, กุ้ง, หอย และที่มีชื่อเสียงที่สุดของที่นี่คือสาหร่ายพวงองุ่น รวมถึงสำรวจวิถีชีวิตของชาวสวนท้องถิ่นที่ส่วนมากจะเพาะปลูกต้นปาล์ม, ยาง และผลไม้ต่าง ๆ

๓.๖ อื่นๆ


๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตร
การทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
การท่องเที่ยวในชุมชนแหลมสัก มีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปี เหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย เช่น สายท่องเที่ยวธรรมชาติ สามารถท่องเที่ยวทางเรือออกไปยังเกาะและภูเขาหินปูนต่างๆ ที่สวยงาม สัมผัสธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ของทะเลในแหลมสักทั้งบริเวณอ่าวเหนา และป่าโกงกาง
สายท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิต นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชนแหลมสัก โดยออกไปสำรวจกระชังเลี้ยงปลา, กุ้ง หอย และกระชังเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น รวมถึงสำรวจวิถีชีวิตของชาวสวนท้องถิ่นที่ส่วนมากจะเพาะปลูกต้นปาล์ม, ยาง และผลไม้ต่าง ๆ
สายท่องเที่ยวแอดแวนเจอร์หรือสาย Sport Tourism นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายัค ปั่นจักรยาน หรือแม้แต่กิจกรรม Adventure Zip Line
สายท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ สัมผัสวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วมมีกิจกรรมให้ทำมากมาย อาทิ ปั้นจักรยานชมวิถีชีวิต ๓ วัฒนธรรม ชมวัดมหาธาตุแหลมสัก ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ยและมัสยิดบ้านหัวแหลม ล่องเรือชมภาพเขียนสีโบราณเรียนรู้การทำขนมท้องถิ่น (Cooking Class) ขนมโกสุ้ยและข้าวคลุกกะปิ เรียนรู้การเพาะพันธ์กล้วยไม้รองเท้านารี การทำ CSR ปลูกต้นจาก ปลูกกล้วยไม้คืนป่า ณ เขาช้างหมอบและชมกล้วยไม้ป่า

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ
ชุมชนแหลมสัก มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน หลากหลายช่องทางโดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อาทิ แผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรมฯแหลมสัก ป้ายบอกทางไปยังจุดท่องเที่ยวในชุมชน ป้ายองค์ความรู้ ศาสนสถานของชุมชน ป้ายเช็คอิน "ชุมชนแหลมสัก” แผ่นพับแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว เฟสบุ๊ค "ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก” และวิดีทัศน์แนะนำชุมชนเพื่อเผยแพร่ ชื่อวีดิทัศน์ : แหลมสักกระบี่ Link YouTube : https://www.youtube.com/watch?v=UmRjy-NylGA เป็นต้น

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง
แหลมสัก ทะเล ๓ ด้าน วัฒนธรรม ๓ สาย สัมผัสอุ่นไอรักของความโรแมนติก สำหรับโปรแกรมการท่องเที่ยว One day Trip โปรแกรม ๒ (๒วัน ๑ คืน) โปรแกรม ๓ (๓ วัน ๒ คืน) เป็นต้น สำหรับเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนแหลมสักตั้งอยู่บนปลายแหลมที่ยื่นลงไปในทะเลอันดามัน ตามแนวเหนือ-ใต้ และอยู่ด้านในของ อ่าวพังงา มีเส้นทางทางน้ำ โดยลงเรือ ณ ท่าเทียบเรือแหลมสัก สามารถเดินทางไปยังเกาะแก่งต่างๆของจังหวัดกระบี่ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ของจังหวัดพังงา และสามารถเชื่อมโยงเส้นทางทางรถเพื่อเดินทางไปยังชุมชนอื่นๆ อาทิชุมชนวัดมหาธาตุวชิรมงคล(วัดบางโทง) ชุมชนวัดราษฎร์รังสรรค์ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สระธารโบกขรณี ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นต้น

๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ โรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน รวมทั้งมีร้านอาหารท้องถิ่น และการบริการอื่นๆ
ชุมชนแหลมสัก มีโฮมสเตย์ โรงแรม/รีสอร์ทในพื้นที่ หลากหลายรูปแบบ ได้มาตรฐานสามารถเลือกที่พักได้ตามความชอบของนักท่องเที่ยว อาทิ ลานเลโฮมสเตย์ แหมสักซีฟู๊ดและโฮมสเตย์ บุหลัน อันดา บาบ๋า รีสอรท์ ซึ่งแต่ละที่พักจะมีกิจกรรมพิเศษด้วย เช่น นอนกระชังปลากลางทะเล นอนบนฝั่ง เที่ยวแพกระชัง กินอาหารเย็นแบบปิคนิคบนแพ ถ่ายรูปขณะล่องเรือ กิจกรรม DIY ทำกระเป๋าจากผ้าปาเต๊ะ เพ้นผ้าบาติก ทำขนมสไตล์บาบ๋า เป็นต้น

๔.๕ มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ
ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง
ชุมชนแหลมสัก มีนักสื่อความหมายชุมชน/ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น อาทิ นายสมชัย เพิ่มทรัพย์ ปรานชุมชนคุณธรรมแหลมสัก นายพศิน แสงหิรัญ นางสาวณัฐริกา ธรรมเจดีย์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น เป็นผู้นำชมเพื่อความเข้าใจชุมชนและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเนื่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ซึ่งมัคคุเทศก์ท้องถิ่นจะได้รับการอบรมความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา จากหน่วยงานของรัฐ เอกชน


๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและการบริการอื่นๆ เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ชุมชนแหลมสักมีที่จอดรถ ห้องน้ำสะอาด และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ ห้องน้ำและทางลาดบริเวณวัดมหาธาตุแหลมสัก ท่าเทียบเรือแหลมสัก ที่จอดรถจักรยานยนต์ และรถยนต์บริเวณวัดมหาธาตุแหลมสัก ท่าเทียบเรือแหลมสัก และบริเวณรอบๆชุมชน

๔.๗ กิจกรรมอื่น ๆ


๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแหลมสัก อาทิ ชุดย่าหยา ซึ่งเป็นชุดพื้นถิ่นของคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี๋ยนที่มีการแต่งงานระหว่างชนพื้นเมือง เรียกว่า บาบ๋าย่าหยา เป็นชุดลำลอง ตัวเสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าป่านรูเบีย แขนยาว เข้าเอวรัดรูป ปักลายฉลุทั้งที่คอเสื้อ ชายเสื้อ และปลายแขน ตัวเสื้อด้านหน้าปลายแหลมยาว ความยาวตัวเสื้อจะอยู่ระดับสะโพกบน ปกเสื้อด้านหน้าแบะออกสำหรับติดโกสังหรือกระดุมทองฝังเพชรที่ร้อยเชื่อมด้วยสร้อยทอง ส่วนผ้านุ่งปัจจุบันนิยมใช้ผ้าปาเต๊ะ และสำหรับผ้าปาเต๊ะได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยนำมาตัดเย็บเป็นกางเกง และกระเป๋าผ้า

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
ชุมชนแหลมสักมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย อาทิ กะปิกุ้งตัก ซึ่งมีกรรมวิธีในการทำแบบดั่งเดิม "การช้อนตักกุ้ง” และสามารถแปรรูปเป็น กะปิหวาน กะปิผัดข้าวคลุกกะปิ กะปิผง เป็นต้น เวชสำอางค์จากสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งเป็นการแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงไว้ในกระชังซึ่งมีสารรักษาความชุ่มชื่นของเซลล์ผิวจึงได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นเวชสำอางค์สินค้าของชุมชน ปลาแดดเดียวทอดพร้อมทาน ซึ่งใช้ปลาบ้าสีหรืออีกชื่อว่าปลามกคก มีเนื้อค่อนข้างนิ่ม ไม่แข็ง นำมาแปรรูปโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้เพียงเกลือกับขั้นตอนที่เหมาะสมได้ปลาแดดเดียว ที่ไม่ได้เจือสารเคมีใด ๆ

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนแหลมสัก มีจำหน่ายโดยทั่วไปตามร้านค้าในชุมชนและจำหน่ายที่กลุ่มวิสาหกิจโดยตรง รวมทั้งสามารถซื้อสินค้าของชุมชน ณ ที่ทำการชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก อาคารบลูเฮาร์ โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจสามารถแวะเข้าเยี่ยมชม ทดลองสินค้าได้ตลอดเวลา และสามารถสอบถามได้ทางโทรศัพท์ ๐๘๙๙๙๗๘๙๑๕ หรือเว็บไซต์/เฟซบุ๊ค ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก Laemsak CBT เว็บไซต์/เฟซบุ๊ก www.laemsak.com และ เว็บไซต์/ เฟซบุ๊ก กะปิกุ้งตัก กะปิแท้ บ้านอ่าวน้ำ

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาท่องเที่ยว ชุมชนแหลมสัก เรียนรู้การทำ "ขนมโกสุ้ย” ขนมดั้งเดิมสไตล์บาบ๋า และลงมือทำ "ขนมจากใจ” ที่พิเศษกว่าที่อื่นๆ DIY ทำกระเป๋าจากผ้าปาเต๊ะ และเพ้นท์ผ้าบาติกผืนเดียวในโลก กิจกรรมปลูกกล้วยไม้คืนสู่ป่า ณ เขาช้างหมอบ กิจกรรมปลูกต้นจาก พืชเศรษฐกิจสารพัดประโยชน์ของชุมชนCooking Class ลงมือทำข้าวคลุกกะปิกุ้งตักฝีมือตัวเอง ปั้นจักรยานสำรวจวิถีชีวิตชุมชนแหลมสัก "ชุมชน ๓ วัฒนธรรม

๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และ Onsite
ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในรูปแบบ Online ทางเฟสบุ๊ค ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก Laemsak CBT เฟสบุ๊ค ท่องเที่ยวแหลมสัก และเพจต่างๆ อาทิ Bulan Anda Baba Resort ,Local Alike, TheSleepClubs, Travel 101 เที่ยวจนได้ เป็นต้น สำหรับรูปแบบ Onsite มีการประชาสัมพันธ์โดยผ่านหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่

๕.๖ อื่นๆ
 
















แชร์


Facebook share Twitter share LINE share