กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๒๕/o๗/๒๕๖๕

บ้านเมืองรวง


ชุมชนบ้านเมืองรวง หมู่ ๕ ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

๑. การบริหารจัดการชุมชน

๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ผู้นำพลัง "บวร” ร่วมกับคนในชุมชนในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน โดยมีการติดตามรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์และข้อมูลข่าวสารการจัดกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ผ่านกลุ่มไลน์ "บ้านเมืองรวง” และเสียงตามสายทุกเช้า ในเวลา ๐๗.๐๐ น. ที่ครอบคลุมพื้นที่ ๑๓๒ ครัวเรือน (ประชากร ๓๔๒ คน) และการประชุมประจำเดือนคณะทำงานชุมชนที่จัดขึ้นวันถัดไปการประชุมรับนโยบายประจำเดือนจากส่วนราชการระดับอำเภอ เพื่อติดตามผล ทบทวน รับฟังปัญหาถ้าเกิดขึ้นพร้อมร่วมกันหาทางแก้ไข สอบถามทุกข์ สุข ความต้องการความช่วยเหลือ ฯลฯ และทุกคนในชุมชนมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลในบ้านและหน้าบ้านของตนเอง

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำชุมชนบ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านแนบทองคำประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และเป็นที่รักของสมาชิกในชุมชน สำหรับการบริหารงานภายในชุมชนอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการหมู่บ้าน และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ บริหารงานโดยใช้หลักธรรมมาภิบาล ประชาชน ของหมู่บ้านใช้หลักธรรม พรหมวิหาร 4 ในการดำรงชีวิต และสามัคคีในการอยู่ร่วมกัน มีการกำหนดให้สมาชิก ในชุมชนมีส่วนร่วมในการประชุมและให้ความร่วมมือ ในทุกกิจกรรมของทางหมู่บ้านเป็นอย่างดี

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินการจัดกิจกรรมของชุมชนได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญของชุมชนบ้านเมืองรวง ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ชุมชนก่อเกิดรายได้ และที่สำคัญยังช่วยรักษาความเป็นชาวไทลื้อของชุมชนชุมชนบ้านเมืองรวง

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
คนในชุมชนทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชน ดำเนินการโดยใช้หลักการ แบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านเมืองรวง เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจและจิตสำนึกของคนในชุมชน มีการบริหารจัดการชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันทำและร่วมกันแก้ปัญหา รวมทั้งร่วมกันรักษาคุณค่าทางสังคมที่ดีงาม รวมถึงมีการกระจายรายได้การแบ่งปันผลประโยชน์โดยใช้วิธีการแบ่งปันหน้าที่ซึ่งกันและกัน โดยการใช้ข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชน เป็นการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน
ชุมชนบ้านเมืองรวง ได้เป็นชุมชนต้นแบบในเรื่องการบริหารจัดการขยะและได้สร้างนวัตกรรมดินบ้านเมืองรวงจากขยะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ จากนั้นได้มีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และ ในปี ๒๕๖๑ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อยู่เย็น เป็นสุข ดีเด่น ระดับจังหวัด ต่อมาได้รับการคัดเลือกกิจกรรมตามโครงการ คัดเลือกหมู่บ้าน (บ้านสวยเมืองสุข) ระดับเขต และระดับภาค จนได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้พิจารณาคัดเลือกให้ชุมชนบ้านเมืองรวง เข้าร่วมโครงการชุมชนคุณธรรมฯ พลังบวร และปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้รับการคัดเลือกเป็น "เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ระดับจังหวัด

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ชุมชนมีกลไกในการบริหารจัดการในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19) โดยทางคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านเมืองรวงได้ออกประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ภายในชุมชน พร้อมแจ้งแนวทางการป้องกันโรคติดต่อเป็นระยะ โดยให้ประชาชนภายในหมู่บ้าน ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี มีการประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายเสียงของหมู่บ้าน สร้างการรับรู้และตระหนักของภัยจากการติดเชื้อ ผ่านทางไลน์ของหมู่บ้าน หรือโซเชียล ดิสแทนซิ่ง (social distancing) เว้นระยะห่าง รวมทั้งมีการคัดกรองประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนยังได้จัดกิจกรรมส่งต่อกำลังใจ ผ่านกิจกรรม "ตู้ปันสุข” ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชนและใกล้เคียงอีกด้วย

๑.๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดําเนินตรวจเยี่ยมบ้านเมืองรวง รวมทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารระดับประเทศลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนบ้านเมืองรวง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดําเนินตรวจเยี่ยม บ้านเมืองรวง จำนวน ๒ ครั้ง โดยครั้งที่ ๑ เสด็จเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๒ เสด็จเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ รวมทั้งให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูง เช่น คณะวุฒิสมาชิก ปลัดกระทรวง รวมทั้ง อธิบดีกรมต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ชุมชนบ้านเมืองรวง ตามวาระและโอกาสต่างๆ



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ /ภาษา /เครื่องแต่งกาย
บ้านเมืองรวง ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ผู้ที่ริเริ่มก่อสร้างหมู่บ้านครั้งแรก เป็นชาวลวงซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อหมู่บ้านว่าบ้าน "เมืองลวง” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก เมืองลวง เป็น "เมืองรวง” โดยได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคนไทยวน ใช้ภาษาไทยวนในการสื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทยวน นอกจากนี้ยังมี ชาติพันธุ์อาข่าที่อพยพมาอยู่ในชุมชนบ้านเมืองรวง โดยสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง มีการธำรงรักษาอัตลักษณ์ศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมอันดีงาม ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมคนไทยวน และวัฒนธรรมชาติพันธุ์อาข่า เพื่อแสดงในงานวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของชุมชน และเพื่อแสดงต้อนรับแขกผู้มาเยือนในชุมชน อาทิ การแสดงฟ้อนเล็บ ของกลุ่มสตรีบ้านเมืองรวง การแสดงฟ้องประกอบเพลงพื้นเมือง การแสดงชาติพันธุ์อาข่า เป็นต้น

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น /กีฬา การละเล่นท้องถิ่น
ชุมชนบ้านเมืองรวง มีเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น พิธีสงเคราะห์ ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นการเลี้ยงผีหมู่บ้านและทำบุญหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความเชื่อว่าถ้าทำแล้วจะขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน และผู้คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขตลอดปี งานสลากภัตต์ (ตานก๋วยสลาก) ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นการทำบุญอุทิศหาคนตาย นับว่าเป็นการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของล้านนา และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชนและคณะศรัทธาทั่วไป

๒.๔ อาหารท้องถิ่น /ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
อาหารปลอดภัย : ชาวบ้านชุมชนบ้านเมืองรวง ปรุงและประกอบเป็นอาหารรับรองผู้มาเยือน หรือคณะศึกษาดูงานในพื้นที่จะเน้นใช้ผลิตภัณฑ์และผักปลอดภัยในชุมชนประกอบเป็นอาหารประจำถิ่นไทยเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อของชุมชนได้แก่ น้ำพริกปูลู่ ลาบพื้นเมือง น้ำพริกปลาผักลวกปลอดภัยจอผักกาด ฯลฯ นอกจากนี้นี้ ในชุมชนบ้านเมืองรวงยังมีการนำเสนออาหารของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกในชุมชนและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอีกด้วย



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านศิลปิน หอศิลป์
วัดท่าไคร้ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางศาสนาของชุมชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างพร้อมเพรียง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนนำประเพณีล้านนา "การฮ้องขวัญหรือเรียกขวัญ” เป็นการต้อนรับและสร้างความสัมพันธ์ให้เกียรติแก่ผู้มาเยือน นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเมืองรวงยังมีตลาดวัฒนธรรม "สุดสายยายกอง” เปิดขายพืชผักเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน อีกทั้งยังมีลานวัฒนธรรมสร้างสุข ภายในข่วงลานกลางชุมชนอีกด้วย

๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
สถานปฏิบัติธรรม วัดพุทธมิ่งโมลี (พุทธสถานถ้ำพระพุทธมิ่งโมลีศรีแม่กรณ์) เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่มีสถาปัตยกรรมงานปั้นองค์พระพุทธรูป และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สวยงาม เป็นสถานที่ ที่สงบร่มรื่น เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใส เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาตามประเพณี เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนชาวตำบลและตำบลใกล้เคียง

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย โดยทีโครงการสำคัญร่วมกับศูนย์พัฒนาพืชพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มารตฐาน GAP รวมทั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน” ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนาของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสาน
๓.๔.๑ ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสานบ้านแม่ซ้อ เป็นครัวเรือนต้นแบบ ในโครงการที่อยู่ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้โดยเฉพาะการทำเกษตรผสมผสานแบบปลอดสารพิษ การปลูกไม้ดอกไม้ผล พืชผักนานาชนิด การเลี้ยงไก่ใน บริเวณบ้าน การปรุงดิน ที่สำคัญ

๓.๔.๒ ศูนย์เรียนรู้บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านสับปะรดสี นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าถึงวิธีการปลูกสับปะรดสีซึ่งเป็นไม้ประดับที่มีความโดดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ ความสวยงาม นอกจากนี้ ยังได้ชมความงามของไม้ดอกไม้ประดับที่หลากหลายอีกด้วย

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
จุดชมวิว ๓๖๐ องศา บ้านเมืองรวง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของชุมชนบ้านเมืองรวง คือ บรรยากาศทุ่งนา ตามธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานเยี่ยมชมและรับบรรยากาศแบบท้องทุ่งในยามเช้าตรู่หรือยามเย็น เพื่อชมวิถีชีวิตและรับบรรยากาศแบบธรรมชาติบนท้องไร่ท้องนาในแบบวิถีชีวิตของคนบ้านเมืองรวง นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเมืองรวงยังมีป่าชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจอีกแห่งหนึงด้วย



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตร
การทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
ชุมชนบ้านเมืองรวงมีกิจกรรมสำหรับให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วม เช่น "การบายศรีสู่ขวัญหรือเรียกขวัญ” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานในการต้อนรับผู้มาเยือนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้เกียรตินักท่องเที่ยว/คณะศึกษาดูงาน ในการที่มาเยือน กิจกรรมการทำจิ้นส้ม หรือแหนมหมู และกิจกรรมเดินป่าภายใต้สโลแกน "เตียวขึ้นดอย กอยธรรมชาติ ปราชญ์นำทาง สร้างวิถี หลามปี๋กลางดอย” การเรียนรู้พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดจากปราชญ์ชุมชน เป็นต้น

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ

๑) ช่องทาง Online
- Facebook : บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ - Facebook :
- YouTube : https://www.youtube.com/watch?v=UUU9HWTpLNM

๒) นายสมาน เทพสุภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ บ้านเมืองรวง เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๒ ๗๖๖๙๗๖๕


๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง
เริ่มจากไหว้พระหลวงพ่อขาวและบายศรีสู่ขวัญเพื่อเสริมมงคลชีวิต ณ วิหารวัดท่าไคร้ เช็คอิน ณ เกาะกะโหลก ถึงแล้วเมืองรวง @ต้นมะขาม 160 กว่าปี สามแยกฮอมใจ๋ และจุดชมวิว 360 องศา จากนั้น ชม ชิม ช๊อป ชมวิถีคนเมืองรวงไม่ลวงใคร/ ชิมของกิ๋นบ้านเฮา/ ช๊อปของดี วิถีชีวิตพอเพียง เลี้ยงกบ ทำบาร์บีคิวโอบ และเยี่ยมชมบ้านสวยรวยสุข "ทดลองปลูกไม้ประดับสับปะรดสี" ต่อด้วยกิจกรรมส้อนอีฮวก ส้อนป๋า ตกเบ็ด ทำจิ้นส้ม ปลูกผักปลอดสารพิษ หลังจากนั้นตามด้วยชมผลิตภัณฑ์กาแฟสดจากชนเผ่า และช๊อป ผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ร้านกาแฟอาข่ามิโน นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเมืองรวงสามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังชุมชนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง เช่น วัดร่องขุ่น ไร่ชาสิงห์ปาร์ค และชุมชนคุณธรรม บวร On Tour บ้านปางขอน เป็นต้น

๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ โรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน รวมทั้งมีร้านอาหารท้องถิ่น และการบริการอื่นๆ
ชุมชนมีโฮมสเตย์ไว้บริการ จำนวน ๘ หลัง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสหลายหลายบรรยากาศ เช่น สัมผัสความร่มรื่นและบรรยากาศในสวนไม้และไม้ประดับหลากหลายพืชพันธุ์ ลิ้มรสกับสมุนไพรผักกินกับลาบหลากหลายชนิด และได้เรียนรู้การทำดอกไม้จากก้านกล้วย รวมทั้งได้ลิ่มลองรสชาติของกาแฟสดไปพร้อม ๆ กับชมทิวทัศน์โดยรอบ ที่สำคัญได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านของชนเผ่าอาข่า โดยเฉพาะ "การโล้ชิงช้า เป็นต้น

๔.๕ มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ
ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง
ชุมชนบ้านเมืองรวงได้มีการจัดอบรมผู้นำชมหรือมัคคุเทศก์ในชุมชน เพื่อบริการนักท่องเที่ยว และมีการจัดอบรม การเป็นเจ้าบ้านเพื่อให้คนในชุมชนเกิดความพร้อมในการรับรองนักท่องเที่ยว มีความเป็นมิตร มีความเชื่อมั่น รอบรู้เรื่องราวในท้องถิ่น ให้การตอบรับ ดูแลผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวให้มีความสุข และรู้สึกปลอดภัยเพราะเมื่อผู้มาเยือนได้รับความมีอัธยาศัยไมตรี และให้การตอบรับอย่างอบอุ่น เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ

๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและการบริการอื่นๆ เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ชุมชนบ้านเมืองรวงได้ให้ความสำคัญและคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นทางชุมชน จึงได้จัดให้มีที่จอดรถ และห้องน้ำสะอาด รวมทั้งทางลาดหรือทางเดินสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ



๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง มีหลากหลายอย่าง เช่น น้ำพริกตาแดง ปลาซ่อนป่น ผลิตภัณฑ์มะขามแก้ว ผลิตภัณฑ์จักสาน ผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพร ผลิตภัณฑ์กาแฟ ผลิตภัณฑ์วัสดุธรรมชาติและรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ผ้า เมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร และดินบ้านเมืองรวง

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
หนึ่งใน Signature ของชุมชนบ้านเมืองรวง คือ การประกอบอาหารพื้นถิ่นจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้ลงมือทำอาหารทีขึ้นชื่อของชุมชนด้วยตนเอง โดยเฉพาะ "จิ้นส้ม” หรือ "แหนมหมู” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือ CPOT ที่ขึ้นชื่อของชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
ร้านหรือศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านเมืองรวง ส่วนใหญ่จะมีวางขายตามบ้านหรือแต่ละศูนย์เรียนรู้ โดยเฉพาะทุกวันเสาร์จะมีตลาดทางวัฒนธรรม ชาวบ้านก็จะนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์มาวางขายตามหน้าบ้านของตน รวมทั้งบริเวณที่ได้กำหนดไว้

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
หมู่บ้านนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดกิจกรรมส่งเสริมให้แก่นักท่องเที่ยวได้การเรียนรู้ และร่วมกิจกรรม Workshop เช่น ฐานการเรียนรู้พืชผักสวนครัวและผักปลอดภัย ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ และไก่พื้นเมือง แต่ละบ้านมีการจัดทำเสวียน เพื่อเก็บขยะทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ฐานสาธิตการดริปกาแฟ นอกจากนี้ทางหมู่บ้านได้ให้ความรู้แต่ละครัวเรือนในการคัดแยกขยะเพื่อนำมาขายกับกลุ่มออมทรัพย์ขยะ เพื่อลดรายจ่ายสร้างรายได้ นับเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการรวมกลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านเมืองรวง ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้แก่ชุมชนต่างๆ ต่อไป

๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และ Onsite
Facebook : บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์
Facebook : โฮมสเตย์ บ้านเมืองรวง
YouTube : https://www.youtube.com/watch?v=UUU9HWTpLNM









แชร์


Facebook share Twitter share LINE share