กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๒๕/o๗/๒๕๖๕

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต


ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่ตั้ง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

๑. การบริหารจัดการชุมชน

๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล ผู้นำของชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้ง 6 ข้อ ในการบริหารจัดการชุมชน คือ
๑.หลักนิติธรรม ผู้นำชุมชนมีการออกข้อปฏิบัติสำหรับการอยู่ร่วมกันในชุมชน โดยไม่ทำตามอำเภอใจ
๒.หลักคุณธรรม มีความซื่อสัตย์เสียสละต่อชุมชน
๓.หลักความโปร่งใส การบริหารจัดการของชุมชนมีความโปร่งใสทุกคนสามารถตรวจสอบได้
๔.หลักความมีส่วนร่วม ชุมชนเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนชุมชน
๕.หลักความรับผิดชอบ ผู้นำรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ผู้ตามได้
๖.หลักความคุ้มค่า ผู้นำชุมชนมีการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ผู้ตามดำเนินการกิจการกิจกรรมต่างๆ อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจนผู้นำชุมชนเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่ และประกอบอาชีพในพื้นที่ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งยังเล็งเห็นถึงความถึงปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนของชุมชน จึงมีศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะพัฒนาให้ชุมชนมีศักยภาพที่มากขึ้น

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมชุมชนมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนชุมชน และให้ทุกภาคส่วนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชน ทั้งยังปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนระลึกถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชน และให้มองภาพว่าคนในชุมชนทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ชุมชนคือบ้านที่ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
ชุมชนมีการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนชุมชน โดยรับฟังอย่างเท่าเทียม

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจนชุมชนมีการเชิญ ส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันศึกษา ในการเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนชุมชน การประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี ทั้งยังบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมต่างๆ

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ชุมชนมีการบูรณาการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดในการออกมาตรการในการดำเนินกิจกรรม ทั้งยังได้รับมาตรฐาน SHA+ ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. นั้น ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับมาตรการความสะอาดหรือความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และพนักงานในสถานที่ประกอบการหรือกิจการที่ได้รับวัคซีน COVID-19 ครบโดสอย่างน้อย 70% ของพนักงานทั้งหมดในองค์กร

๑.๗ รางวัลที่ชุมชนได้รับ
- รางวัลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียน ประจำปี 2561 (ASEAN Sustainable Tourism Award 2018) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของอาเซียน ประจำปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ (ASEAN Community Based Tourism Standard 2019-2021) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ ๑๒ ประจำปี ๒๕๖๒ สาขา แหล่งท่องเที่ยวชุมชน
(Thailand Tourism Awards 12th 2019) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประจำปี ๒๕๖๓ ระดับดีเยี่ยม (Thailand Community Based Tourism Standard 2020) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- มาตรฐานอาหารปลอดภัยริมบาทวิถี ประจำปี ๒๕๖๓ (Street Food Good Health 2020)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประจำปี ๒๕๖๓ (CIV – Creative Industry Village 2020) กระทรวงอุตสาหกรรม
- รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ ๑๓ ประจำปี ๒๕๖๔ (Thailand 13th Tourism Awards 2021) สาขา แหล่งท่องเที่ยวชุมชน รางวัลยอดเยี่ยม Thailand Tourism Gold Awards



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ /ภาษา /เครื่องแต่งกาย
ชุมชนมีความโดดเด่นทางด้านภาษาท้องถิ่น เพราะเป็นการสื่อสารที่ประสมกันระหว่างคำภาษาไทย ภาษาจีน ภาษามลายู และภาษาอังกฤษ ทั้งยังมีเครื่องแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเชนไม่ว่าจะเป็น ชุดบาบ๋า ย่าหยา หรือตึ่งจวง เป็นต้น

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ด้วยวัฒนธรรมของชุมชนย่านเมืองเก่าเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม จึงทำให้มีความหลากหลาย ทางด้านดนตรีการแสดงหลากหลายรูปแบบ ศิลปะดนตรี และการแสดงจึงผสมผสานกันอย่างลงตัว

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น /กีฬา การละเล่นท้องถิ่น
ในอดีตชุมชนเป็นแหล่งที่ตั้งของย่านการค้า ทำให้มีการตั้งรกรากของคหบดี และชาวจีนเป็นจำนวนมากส่งผลให้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนเข้ามา อาทิเช่น ประเพณีตรุษจีน ประเพณีไหว้พระจันทร์
ประเพณีผ้อต่อ ประเพณีวิวาห์บาบ๋า ประเพณีถือศีลกินผัก ประเพณีไหว้เทวดา เทศกาลโคมไฟ

๒.๔ อาหารท้องถิ่น /ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
อาคารสถาปัตยกรรม เป็นสิ่งที่โดดเด่นของชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีชื่อว่า อาคารสถาปัตยกรรมชิโน
ยูโรเปี้ยน ซึ่งเป็นการผสมผสานของสถาปัตยกรรมจีนและยุโรป รวมทั้งอาหารการกินที่ขึ้นชื่อของชุมชนไม่ว่าจะเป็น หมี่ผัดฮกเกี้ยน ขนมท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านศิลปิน หอศิลป์
ชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น ถนนคนเดินหลาดใหญ่ ที่รวบรวมอาหารนานาชนิด การแสดงวัฒนธรรม และสินค้าต่างๆ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของชุมชน อาคารสถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปี้ยนที่โดดเด่น วัดมงคลนิมิตร พระอารามหลวง ศาลเจ้าแสงธรรม ศาลเจ้าไหหลำ ศาสนสถานที่บ่งบอกความเป็นมารากฐานชีวิตของคนในชุมชน

๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร คือ โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว หมายเลขทะเบียน 0005117 และวัดมงคลนิมิตร พระอารามหลวง แหล่งรวมจิตใจชาวพุทธ หมายเลขทะเบียน 0005118

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้าน แหละมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ โรงตีเหล็กไต่สุ่นอัน ซึ่งเป็นโรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายในชุมชน และศูนย์เรียนรู้เชฟชุมชน ที่มีการสาธิตการปรุงอาหารท้องถิ่น

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสานเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นตึกอาคารเป็นหลักทำให้ในบริเวณพื้นที่ของชุมชนนั้นไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ของชุมชน

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นตึกอาคารเป็นหลักทำให้ในบริเวณพื้นที่ของชุมชนนั้นไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ของชุมชน แต่ในบริเวณใกล้เคียงมีจุดชมวิวเขารังที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของเมืองภูเก็ตในยามค่ำคืนอย่างสวยงาม ซึ่งห่างออกไป 2.5 กม. และสวนสาธารณะสะพานหิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าชายเลน และสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นได้อย่างสวยงาม ซึ่งห่างออกไป 3.5 กม.



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตร
การทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
ชุมชนมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถรับชมการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน โดยศูนย์เรียนรู้เชฟชุมชน รวมทั้งยังได้เห็นการประกอบอาชีพของคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ
ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายช่องทาง ทั้งยังมีจุดเช็คอิน
จุดถ่ายภาพที่เป็นที่นิยมอย่างมากมายในพื้นที่ชุมชน

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน
กับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนมีเส้นทางท่องเที่ยวที่ชัดเจนซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจและใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดเพื่อร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดในอนาคต

๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ โรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน รวมทั้งมีร้านอาหารท้องถิ่น และการบริการอื่นๆ
ในชุมชนมีโรงแรมที่พักซึ่งสื่อความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนโดยมีราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งยังมีโรงแรมหลายระดับให้เลือกเนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเกาะที่ขนาดไม่ใหญ่มากทำให้การเดินทางภายในจังหวัดใช้เวลาไม่มาก และร้านอาหารที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและมีชื่อเสียง

๔.๕ มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ
ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่องชาวชุมชนมีความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นพร้อมกับได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ชุมชนได้มีการส่งเสริมให้เด็กในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในบริบทพื้นที่

๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและการบริการอื่นๆ
เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ชุมชนมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และการดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิเช่น ป้ายบอกทาง กล้อง CCTV ห้องน้ำผู้พิการ ที่จอดรถผู้พิการ สัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่



๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
ชุมชนมีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมากมายหลากหลายชนิด เช่น อาหารท้องถิ่น ขนมท้องถิ่น เครื่องแต่งกายประจำถิ่น และของที่ระลึก เป็นต้น

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
ชุมชนมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมโดยประยุกต์ นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น ขนมอังกู้โก้ย DIY ที่ลูกค้าสามารถเก็บได้นานขึ้นและนำไปทดลองทำเองได้ด้วยตนเอง มงกุฎดอกไม้ไหวที่ปรับปรุงวัสดุให้มีราคาย่อมเยาลงและน้ำหนักลดลง และขนมพื้นถิ่นที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ไม่น่าเบื่อและจำเจ เป็นต้น

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
เนื่องด้วยชุมชนย่านเมืองเก่าเป็นชุมชนที่มีลักษณะของร้านจำหน่ายสินค้าตลอดทั้งย่าน ทำให้มีร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม ทำให้ตลอดทั้งย่านเต็มไปด้วยสินค้าทางวัฒนธรรม อาหารและร้านคาเฟ่ที่มีการประดับตกแต่งสวยงามและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน และในทุกเย็นวันอาทิตย์ ย่านเมืองเก่าแห่งนี้ได้มีการจัดถนนคนเดินหลาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านค้า ที่มีทั้งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนตนเอง และชุมชนอื่นๆ อาหารต่างๆ ที่มีทั้งอาหารไทยและต่างประเทศ

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้เชฟชุมชน ที่สาธิตและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองปรุงอาหารท้องถิ่นของชาวภูเก็ต และยังมีร้านค้าที่เปิดให้ลูกค้าได้ทดลองผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างง่ายๆ

๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และ Onsite
ชุมชนมีสื่อสังคมออนไลน์สำหรับแนะนำทั้งแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน และมีถนนคนเดินหลาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อย่างเต็มอิ่ม ทั้งนี้ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สู่สากล
 
















แชร์


Facebook share Twitter share LINE share