กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๒๕/o๗/๒๕๖๕

ชุมชนคุณธรรมบ้านภู ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู


ชุมชนคุณธรรมบ้านภู ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

๑. การบริหารจัดการชุมชน

๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ผู้นำชุมชนคุณธรรมบ้านภู ประกอบด้วย เจ้าอาวาสวัดศรีนันทาราม ประธานกรรมการโฮมสเตย์บ้านภู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำหลักการของพลัง "บวร” มาเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่มเข้าหากัน โดยมีสถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีการส่งเสริมให้คน ในชุมชนมีคุณธรรมด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ร่วมกันรักษาอัตลักษณ์ สืบสานประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มอาชีพสร้างรายได้ อยู่ร่วมกันและแบ่งปันกันอย่างมีความสุข รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานสำหรับชุมชนอื่น

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำชุมชบ้านภู เข้าในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียง มีผู้มาท่องเที่ยวและศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ชุมชนมีความร่วมมือร่วมใจปรับภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมให้สะอาดสวยงาม ร่มรื่น มีการจัดผังบ้านภายในชุมชนให้เชื่อมโยงถึงกัน ผู้นำมีกระบวนการสร้างการ มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมผู้ไทยให้อนุชนร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นธรรมชาติ ส่งผลให้คนในชุมชนมีความสามัคคีกลมเกลียว กระตือรือร้น พร้อมเพรียง มีจิตอาสา

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านภูมีการรวมกลุ่มองค์กรที่เข้มแข็ง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานทำให้ชุมชนมีระบบบริหารจัดการในรูปแบบกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ศึกษาดูงานทั้งจากในและต่างประเทศ และร่วมกัน เป็นผู้ให้บริการ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านภูได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลมากมาย

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านภูเปิดโอกาสให้ชาวบ้านภูทุกครัวเรือนทุกเพศ ทุกวัย เข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชน มีการกำหนดบทบาทบาทหน้าที่กันชัดเจน ชุมชนจะให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม จากกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามสู่เด็กและยาวชน ได้เห็นคุณค่า ในสิ่งที่แสดงออก คนในชุมชนมีความรักและสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดพลังสามัคคีร่วมแรงร่วมใจในการสืบสานพัฒนาต่อยอดและรักษาวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาชุมชน มีการเปิดรับนโยบายการพัฒนาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมของกรมต่าง ๆ อาทิ โดยมีกระบวนการทำงานจากการจัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นและเพิ่มเติมรายละเอียดการดำเนินงาน ร่วมกับ นายอำเภอหนองสูง เจ้าอาวาสวัดศรีนันทาราม กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อนำไปสู่การดำเนินงาน อาทิ ๑) การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชุน ๒) การปรับภูมิทัศน์ โดยพัฒนาหน้าบ้านหน้ามอง มีจุดเช็คอิน/ถ่ายภาพ และมีป้ายข้อมูลสิมเก่า ๓) การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ๔) การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ สไตล์ New normal ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นต้น

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ชุมชนบ้านภูมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยมีแนวปฏิบัติร่วมกัน ในการจัดงานเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่าง ๆ ตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคฯ จังหวัดมุกดาหาร มีการรณรงค์ให้คนในชุมชนเข้ารับวัคซีน มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย การใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ในการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาดพื้นที่การให้บริการหรือพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

๑.๗ อื่น ๆ


ชุมชนบ้านภู เป็นหมู่บ้านที่มีทิวทัศน์ภูเขาล้อมรอบ สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ผืนป่าพื้นดินอุดมสมบูรณ์ ภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร การทำนาปลูกข้าว พืชพันธุ์ต่าง ๆ ผลผลิตออกมามีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ไม่พึ่งพาสารเคมี จึงเป็นเกษตรอินทรีย์ล้วน ๆ ปลูกข้าวเหนียวเป็นหลักไว้รับประทาน วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัว หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตามหน้าบ้านและหลังบ้าน การแต่งกายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้ชายนุ่งโสร่งไหม หรือฝ้าย สวมเสื้อเย็บมือย้อมครามหรือใช้สีกรมท่าหรือดำ ปักลวดลายต่าง ๆ ด้วยมือแม่บ้านสวยงาม ใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบมัดเอว ทุกคนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เด็ก ๆ เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ชุมชนบ้านภูจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาวิถีชีวิตอย่างสม่ำเสมอ



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์/ภาษา/เครื่องแต่งกาย
ชุมชนบ้านภูเป็นชาวผู้ไทย บรรพบุรุษมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การแต่งกายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้ชายนุ่งโสร่งไหม/ฝ้ายผสม สวมเสื้อเย็บมือย้อมครามหรือใช้สีกรมท่าหรือดำ ปักลวดลายต่าง ๆ ด้วยมือแม่บ้านสวยงาม ใช้ผ้าขาวม้าหรือ ผ้าสไบมัดเอว ชุมชนบ้านภูพูดภาษาผู้ไทย ซึ่งภาษาผู้ไท (เขียน ผู้ไทย หรือ ภูไท ก็มี) เป็นภาษาในตระกูลภาษา ไท-กะได มีผู้พูดจำนวนไม่น้อย กระจัดกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยและลาว

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ชาวบ้านภูมีกิจกรรมการแสดงพื้นบ้านเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เดิมมีการแสดงรำบายศรีสู่ขวัญ การเต้นบาสโลปร่วมกัน และการแสดงลงข่วงเข็นฝ้ายของกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งใช้นักแสดงในชุมชนและจัดแสดงมานาน โรงเรียนบ้านภูและโรงเรียนพลังราษฎร์พิทยาสรรพ์ ได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาชุดการแสดง โดยประดิษฐ์ท่ารำจาก วิถีชีวิตของชาวบ้านภูเพิ่ม 2 ชุดการแสดง ได้แก่ "เซิ้งต่ำสาด”(ทอเสื่อ) และ "เซิ้งทอผ้าฝ้าย” โดยใช้นักแสดง จาก ๒ โรงเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและสัมผัสวิถีวัฒนธรรมชาวผู้ไทยได้อย่างแท้จริง

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น / กีฬา การละเล่นท้องถิ่น
ชาวบ้านภูมีวัฒนธรรมในการใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตามหน้าบ้าน หลังบ้าน และทุ่งนา ริมสระน้ำ ห้วย หนอง ทุกคนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เด็ก ๆ เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีกิจกรรมร่วมกันกับลูก ๆ คือ ตอนเช้าทำบุญใส่บาตรทั้งเด็กและผู้เฒ่าผู้แก่ ในวันพระขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ พ่อแม่จะร่วมกิจกรรมโดยจูงลูกหลานเข้าวัด เพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ฟังเทศน์ นอกนั้นก็มีกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ตามประเพณีปฏิบัติ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ การละเล่นของคนในชุมชน ได้แก่ การเล่นขาโถกเถก การเล่นสะบ้า

๒.๔ อาหารท้องถิ่น/ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
กิจกรรมพาแลง เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ อัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เน้นอาหารพื้นบ้านเมนูเด็ดของบ้านภู คือ แกงหวายไก่บ้าน แจ่วซ้อม ผู้ไทย ลวกผักริมรั้ว และอาหารตามฤดูกาล เช่น แกงผักหวาน ก้อยไข่มดแดง นอกจากนั้นงานหัตกรรมมีการจักสานเครื่องใช้จากไม้ไผ่ การทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม การทำผ้าหมักโคลน การทำผ้ามัดย้อม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้า



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านศิลปิน หอศิลป์
ชุมชนบ้านภู เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยอาศัยบุคคลในชุมชนคือ "พลังบวร” ร่วมกันคิดร่วมกันทำการบริการไปพร้อม ๆ กับกระแสการท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการของชุมชนคือ ทำอย่างไร จึงจะเกิดการท่องเที่ยวในชุมชนที่หลากหลายและยั่งยืน ดังนั้น งานการบริการต้องทำให้เกิดความประทับใจ เชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เช่น ความสนุกสนาน ความปลอดภัย ความเข้าใจ ความสามัคคีในหมู่เหล่าของชุมชน เมื่อกลับไปแล้วก็ต้องหาวิธีกลับมาใหม่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าผู้ไทยว่าเขาพัฒนาไม่เหมือนใคร บ้านภูมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและศึกษาเรียนรู้

๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวัดศรีนันทาราม อยู่ติดกับศูนย์การเรียนรู้บ้านภู มีสิมเก่าโบราณที่มีประวัติศาสตร์ให้ศึกษาเรียนรู้และกราบไหว้ขอพร

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมาร ในระยะที่ 1 ซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการ พึ่งตนเองในระดับครัวเรือน และ การเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็ง ในระดับชุมชน อาทิ กลุ่มออมทรัพย์เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเพิ่มรายได้ (กลุ่มทอผ้าไหม) กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิต กลุ่มร้านค้าสวัสดิการ กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มจักสาน กลุ่มหัตถกรรมฝีมือ กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มทอผ้า กลุ่มผลิตปุ๋ย กลุ่มงานอุตสาหกรรม กลุ่มโรงสีข้าว กลุ่มเพาะปลูก กลุ่มท่องเที่ยว ที่พักและโฮมสเตย์ เป็นต้น

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสาน
ชุมชนบ้านภูมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ด้านเกษตรพอเพียงของชุมชน ตั้งอยู่บริเวณเหนือหมู่บ้าน ซึ่งมีฝายมีชีวิต ซึ่งเกิดจากพลังของคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นผู้ดำเนินการร่วมกัน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ อาทิ การช่วยทำฝายชะลอน้ำ การหาปลาตามวิถีหมู่บ้าน การเดินป่า และ การปลูกข้าว เป็นต้น

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู ตั้งอยู่ใจกลางที่ราบหุบเขา ซึ่งมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และมีกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย อาทิ การเดินป่าเก็บสมุนไพร ณ บริเวณวัดถ้ำกระพุง ซึ่งเป็นภูเขาบริเวณหลังชุมชน เป็นแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมทิวทัศน์ของชุมชนได้



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตร การทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
ในการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนคุณธรรมบ้านภู เริ่มต้นด้วย การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้มและเสน่ห์ชาวผู้ไทยบ้านภู ด้วยการคล้องพวงมาลัยพร้อมกับขบวนแห่กลองตุ้ม ขบวนรำ และการแสดง วิถีชีวิตชาวผู้ไทยให้กับนักท่องเที่ยวได้ชมไปตามเส้นทางเข้าสู่บริเวณวัดเพื่อเข้าไปนมัสการขอพรพระใหญ่ในสิมเก่า วัดศรีนันทาราม จากนั้นชมจะเป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ณ ลานวัฒนธรรม โดยนักท่องเที่ยวสามารถร่วมสนุกสนานไปกับการแสดงเต้นบาสโลป การแสดงวงโปงลาง การแสดงลงข่วงเข็นฝ้ายของกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ จากนั้น จากนั้นสามารถปั่นจักรยานเที่ยวชมบรรยากาศรอบๆ หมู่บ้าน พร้อมทั้งเรียนรู้ฐานต่าง ๆ ในชุมชน เข้าพักโฮมสเตย์และพักผ่อนตามอัธยาศัย เมื่อรุ่งอรุณยามเช้าร่วมกันทำบุญ นุ่งซิ่นปูสาด ตักบาตรข้าวเหนียว รับประทานอาหารเช้า ณ บ้านพัก จากนั้น สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน และร่วมถ่ายรูปตามจุดเช็คอินต่าง ๆ ในชุมชน พร้อมเดินทางกลับอย่างอิ่มใจ

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ
มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรมรรมบ้านภู ไปตามช่องทางต่าง ๆ มากมาย อาทิ
Facebook ,youtube, Instargram ,รายการโทรทัศน์ โดยชุมชนกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นผู้ดูแลเพจ

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวหรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวหรือการเชื่อมโยงของชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง
โปรแกรมการท่องเที่ยวบ้านภู

วันที่ ๑
- ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยขบวนฟ้อนกลองตุ้ม การแสดงวิถีวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน เครื่องดนตรีพื้นบ้าน
- ฟังบรรยายแนะนำชุมชน กราบนมัสการขอพรพระประธาน สิมเก่าวัดศรีนันทาราม
- ปั่นจักยาน ตามเส้นทางชมบรรยากาศ ภูเขา ทุ่งนา ชมฝ่ายมีชีวิต
- รับประทานกลางวัน (อาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล)
- กิจกรรมเรียนรู้ การทอผ้าลายขิด มัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การทอผ้าไหม การแกะสลักไม้
- เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สบู่ น้ำมันไพร ลูกประคบ
- เข้าพักโฮมสเตย์
- กิจกรรมรับประทานอาหารแบบพาแลง
- พิธีบายศรีสู่ขวัญ ฟ้อนรำ และเต้นบาสโลบ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

วันที่ ๒
-นุ่งซิ่นปูสาด ใส่บาตรข้าวเหนียววิถีผู้ไทย
- รับประทานอาหารเช้า
- ปั่นจักยานชมวิถีชุมชน เลือกชมและซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน
- ส่งนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภู


เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักในจังหวัด เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล
• นมัสการเจดีย์หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ระยะทาง 10 กิโลเมตร
• นมัสการหลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม และเจดีย์คุณแม่ชีแก้ว ระยะทาง 16 กิโลเมตร
• ตลาดอินโดจีน เทศบาลเมืองมุกดาหารและสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ระยะทาง 57 กิโลเมตร
• หอแก้วมุกดาหาร ระยะทาง ๕๗ กิโลเมตร
• นมัสการพระใหญ่ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนภิรมย์ ระยะทาง ๖๐ กิโลเมตร
• แก่งกะเบา ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร
• ผาเทิบ ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร


๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ โรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน รวมทั้งมีร้านอาหารท้องถิ่น และการบริการอื่น ๆ
บ้านภูโฮมสเตย์ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๕ หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐๐ คน

๔.๕ มีมัคคุเทศก์องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู เกิดจากพลังของชุมชน โดยมีนายถวัลย์ ผิวขำ ผู้นำทางธรรมชาติผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นปราชญ์ของชุมชน และเป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลเมื่อนักท่องเที่ยวได้เข้ามาในชุมชน ซึ่งมีหลักสำคัญ ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อมาแล้ว คือ 1) อากาศดีบริสุทธิ์ เพราะเกิดจากภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้ สายน้ำ ลำห้วย 2) อารมณ์จากการได้สัมผัสกับคนในชุมชน โดยการบริการด้วยไมตรีจิตผูกมิตรเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้เกิด ความเชื่อมั่น ความปลอดภัย 3) อาหาร ได้รับอาหารที่ปลอดสารพิษ มีคุณค่าทางโภชนาการ สังเกตจากพืชผัก ตามฤดูกาล อาหารพื้นบ้านที่สะอาด ฉะนั้น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนบ้านภูจึงพัฒนาไปพร้อม ๆ กันจากตำนานไปสู่การสร้างสรรค์ และส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อรุ่น

๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน โดยมีที่จอดรถอย่างกว้างขวางบริเวณลานวัดศรีนันทาราม มีบริการห้องน้ำอย่างเพียงพอ และมีโฮมสเตย์ ไว้บริการอย่างได้มาตรฐาน ซึ่งชุมชนมีการจัดเวรรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน



๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
๑. ผ้าซิ่นลายนาคบายศรี ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย C-POT ประจำปี ๒๕๖๓
๒. ขันกะหย่อง ลายตาแหลว
๓. ย่ามผ้า/กระเป๋าสะพาย
๔. หน้ากากผ้าผู้ไทยบ้านภู
๕. เสื้อเย็บมือปักลาย
๖. ตุ๊กตาสาวผู้ไทยบ้านภู

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโยลี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ในปัจจุบัน
ผ้าซิ่นลายนาคบายศรีมีแหล่งทอผ้าที่บ้านภู ซึ่งผ้าซิ่นลายนาคบายศรีได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย C-POT ประจำปี ๒๕๖๓

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู มีร้านค้าสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน/ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) บริเวณหน้าศูนย์การเรียนรู้บ้านภู ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นไว้ให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้เลือกชมเลือกซื้อได้

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
ชุมชนบ้านภูมีการรวมกลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหม ผ้าหมักโคลนผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มผลิต สบู่สมุนไพร กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มจักสาน มีแหล่งเรียนรู้ จำนวน ๖ ฐาน ได้แก่ ฐานที่ ๑ ลดรายจ่าย ฐานที่ ๒ เพิ่มรายได้ ฐานที่ ๓ ประหยัดและอดออม ฐานที่ ๔ เรียนรู้ภูมิปัญญา ฐานที่ ๕ อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และฐานที่ ๖ เอื้ออารี มีเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทุกฐานการเรียนรู้เป็นแหล่งสาธิตและ ให้บริการความรู้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า และบริการจากการท่องเที่ยว

๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และOnsite
 









แชร์


Facebook share Twitter share LINE share