กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ o๕/o๘/๒๕๖๕

ชุมชนบ้านเชียง


ชุมชน "บ้านเชียง” ( ๑๐ หมู่บ้าน : หมู่ที่ ๑ , ๒, ๔, ๖, ๘, ๙, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๕ )
เทศบาลตำบลบ้านเชียง หมู่ที่ ๙ บ้านศรีเชียงใหม่ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

๑. การบริหารจัดการชุมชน
๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ชุมชนบ้านเชียง มีเทศบาลตำบลบ้านเชียง เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยว โดยยึด
หลักธรรมาภิบาล ได้แก่ หลักนิติธรรม, หลักคุณธรรม, หลักความโปร่งใส ,หลักความมีส่วนร่วม , หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมเมืองมรดกโลก จัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกับคนในชุมชน มีช่องทางรับฟังข้อคิดเห็น และตอบสนองข้อร้องเรียน ภายใต้แนวคิดยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน โดยตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผู้นำชุมชนจำเป็นต้องมีความรู้และคุณธรรม เช่น ความรู้ในการพัฒนางาน การมีส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างกระบวนการตัดสินใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้คนในชุมชนยอมรับ ในความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสงบสุข

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำ "บวร” ในชุมชน ๑๐ หมู่บ้าน เป็นผู้ที่มีความรู้และเข้าใจบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
มีกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณี ศิลปหัตถกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกัน อนุรักษ์สืบทอดและถ่ายทอดเรื่องราวบริบทในชุมชนร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการ และคณะทำงานของชุมชน
บ้านเชียง เช่น แบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มกลองยาวไทพวน กลุ่มทอผ้า
กลุ่มผลิตสินค้าต่าง ๆ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการรองรับบริการนักท่องเที่ยว

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ชุมชนบ้านเชียง มีการประสานงาน ร่วมด้วยช่วยกันในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการระดมความคิด
จากคนในชุมชน ร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ เชื่อมโยงด้วยพลังบวร
บ้าน วัด โรงเรียนและส่วนราชการ ในกิจกรรม ๓ มิติด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ
ด้านการรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยยึดหลักคุณธรรม "พอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มทอผ้าย้อมคราม กลุ่มจักสาน กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มทำเกษตรผสมผสาน มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยนำองค์ความรู้จากทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเสน่ห์วิถีไทพวน พัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เกิดเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนบ้านเชียงอย่างยั่งยืน

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
สมาชิกในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ควบคู่ คุณธรรม ทั้ง ๓ มิติ ดังนี้ มิติด้านศาสนา เช่น การจัดงานพิธีทางศาสนากิจกรรมใส่บาตรยามเช้า ถนนสายบุญ ทุกวันอาทิตย์ ที่ ๑ และ ที่ ๓ ของเดือน ณ ลานวัฒนธรรม มิติด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่ การส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ทำงานสร้างรายได้ด้วยช่องทางสุจริต ทำงานไม่เบียดเบียนผู้อื่น การรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมิติด้านการรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ในงานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียงของทุกปี มีการอนุรักษ์สืบสานมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมวิถีไทพวนบ้านเชียง เช่น
ด้านภาษาไทพวน การแต่งกาย อาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม : การออกแบบพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ กลุ่มทอผ้าบ้านเชียง , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี : โครงการพลัง "บวร” ชุมชนคุณธรรม ลานธรรม ลานวิถีไทย , โครงการเที่ยวชุมชน ยลวิถี , โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) สู่สากล ,โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) , โครงการแหล่งเรียนรู่ทางวัฒนธรรมของชุมชน , สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี : การออกแบบผลิตภัณฑ์และต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น , สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี สนับสนุนรถรางบริการนำเที่ยว และมารฐานโฮมสเตย์ ที่พัก Home Lodge , สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี : การส่งเสริมสินค้า OTOP ให้ได้มาตรฐาน ,บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) : งานประเพณีงานสงกรานต์ วิถีไทยวิถีน้ำ, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา : สนับสนุนจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียง , สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี : สนับสนุนโครงการ ตลาดต้องชม เป็นต้น

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ผู้นำพลัง "บวร” ร่วมกันดูแล ควบคุมเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โดยประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนทราบข่าวสารและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จัดกิจกรรมปันน้ำใจ การมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบผู้กักตัวและผู้ติดเชื้อ การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด ณ โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลบ้านเชียง หมู่ที่ ๔ เป็นศูนย์เฝ้าระวังผู้เดินทางมายังพื้นที่ชุมชน, การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในชุมชนทุกหมู่บ้าน โดยเทศบาลตำบลบ้านเชียง การตั้งด่านตรวจคัดกรอง ตลาดสด โรงเรียน กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า จุดปันสุขแบ่งปันน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกัน
และกันในวิกฤต COVID -19 และเตรียมความพร้อมบ้านพักโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ฯ อบรมให้ความรู้ในการเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยว โดยผ่านการรับมาตรฐาน SHA ความสะอาด ความปลอดภัย

๑.๗ อื่นๆ
ชุมชนบ้านเชียง มีการจัดกิจกรรมที่เป็นการบริหารจัดการในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ดังนี้
โครงการจัดตั้งธนาคารขยะ รับซื้อ บริจาคขยะรีไซเคิล โดยมีกองทุนเงินสงเคราะห์ 10,000 บาท/ครัวเรือน
เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้ว จำนวน ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๘ และ หมู่ที่ ๑๑ และโครงการธนาคารชุมชน หมู่ที่ ๑๓ เป็นการออมเงินของสมาชิกในชุมชน ให้บริการ ฝาก-ถอน กู้ยืม อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ ๑ ต่อปี โดยรับฝากเงินในวันที่ ๑ - ๕ ของทุกเดือน



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ /ภาษา /เครื่องแต่งกาย
ชาติพันธุ์ ของชุมชนบ้านเชียง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พวน ที่อาศัยอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองหลวงของพวน คือ เมืองเชียงขวาง และต่อมาได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านเชียงในปัจจุบัน

ภาษาของชุมชนบ้านเชียง คือ ภาษาไทพวนพวน มีลักษณะเด่น คือคล้ายคลึงกับภาษาพวน
ที่ใช้ในหลวงพระบาง สปป.ลาว เช่น "ไปไซเยี๊ยะ” แปลว่า "จะไปไหน”

เครื่องแต่งกาย ในสมัยโบราณแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายที่ย้อมและทอเองนิยม ใช้สีกรมท่าหรือดำ แต่งกาย
ในชีวิตประจำวันด้วยเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ผ่าหน้า ผูกเชือก แขนสามส่วน นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง เรียกว่า"โซ่ง”
ยาวปิดเข่าเล็กน้อย” มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว ผู้หญิง ใส่ผ้าถุง และเสื้อแขนยาวผ้าฝ้ายย้อมครามเช่นเดียวกัน ปัจจุบันการแต่งกายได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอนุรักษณ์การใส่ผ้าฝ้ายย้อมคราม

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
๒.๒.๑ ศิลปะ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง หมายถึง ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในตำบลบ้านเชียง
อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีรูปทรงการปั้นและเขียนลาย เส้นโค้ง ลายเชือกทาบ ลายก้านขดก้นหอย
ลายรูปเรขาคณิต ลักษณะเดียวกับภาชนะเครื่องปั้นโบราณที่ขุดค้นพบดังกล่าว ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียน
"สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” Geographical Indication (GI) โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา

๒.๒.๒ ดนตรีของชุมชนบ้านเชียง การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานพื้นบ้าน ดนตรีกลองยาวอีสาน
เน้นดนตรีที่มีความสนุกสนาน โดยชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มวงดนตรีกลองยาวไทพวน ชื่อวง "สิบสามแสน”

๒.๒.๓ การแสดง
การแสดงฟ้อนรำไทพวน ในงานบุญประเพณีของชุมชน เน้นการแสดงฟ้อนรำที่มีอัตลักษณ์ และโดดเด่น ประกอบเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเอง นั่นคือ ฟ้อนไทพวน และ ระบำบ้านเชียง เป็นท่ารำโบราณคณดี
แรกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ชุมชนบ้านเชียง

๑) ระบำบ้านเชียง เป็นชุดการแสดงประเภท "ระบำ” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด
อุดรธานี และเทศบาลตำบลบ้านเชียง ได้ทำเรื่องเสนอให้กรมศิลปากร แต่งเพลงและประดิษฐ์ท่ารำ
ที่เป็นเอกลักษณ์ของอารยธรรมมรดกโลกบ้านเชียง เหมือนกับแหล่งมรดกโลกอื่น ๆ ที่มีท่ารำของตนเอง อาทิ
ท่ารำลพบุรี ท่ารำสุโขทัย ท่ารำศรีวิชัย หลังจากที่กรมศิลปากรได้คิดค้นประดิษฐ์ท่ารำเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตัวแทนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนจากเทศบาลตำบลบ้านเชียง ได้ไปถ่ายทอดท่ารำ ซึ่งจัดเป็นระบำโบราณคดีภายใต้แนวคิด "มนต์เสน่ห์แห่งบ้านเชียง มนเสน่ห์แห่งอุดร เมืองแห่งคนดีบนผืนแผ่นดินมรดกโลก” ผู้แต่งเพลงประกอบคือ จ่าเอกสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ ดุริยางค์ศิลปินอาวุโส ครูผู้ประดิษฐ์ท่ารำและฝึกซ้อม นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และคณาจารย์ ประกอบด้วย อาจารย์วันทนีย์ ม่วงบุญ อาจารย์พัชรา บัวทอง อาจารย์มณีรัตน์ มุ่งดี อาจารย์สุชาดา ศรีสุระ และอาจารย์มรี ธีระวรกุล ถือว่า "ระบำบ้านเชียง” เป็นท่ารำโบราณคณดีแรกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

๒) การแสดงชุดฟ้อนไทพวนบ้านเชียง เป็นการแสดงฟ้อนรำของชุมชนบ้านเชียงที่มีอัตลักษณ์
และความโดดเด่นของชุมชน เดิมใช้ดนตรีประกอบทำนองลาวเนื่องจากประวัติความเป็นมาของชุมชน
ได้มีการอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว แต่ต่อมาได้มีการประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่ประกอบท่ารำที่ได้คิดค้นขึ้นเป็นเพลงและชุดการแสดงเฉพาะของชุมชนบ้านเชียงและจะทำการแสดงในงานพิธีบวงสรวงปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเทศกาลงานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง และใช้เป็นชุดการแสดงในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนบ้านเชียง ซึ่งจะหาชมได้เฉพาะที่บ้านเชียงเท่านั้น เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงฟ้อนรำไทพวน การแต่งกายประกอบการแสดงจะแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายย้อมครามเสื้อแขนกระบอก ผ้าถุงยาว ห่มสไบสีแดง
ซึ่งเป็นอัตลักษณ์การแต่งกายที่สวยงามของชุมชนบ้านเชียง โดยประกอบ เพลงรำไทพวนเทิดพระเกียรติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติบ้านเชียงและการเสด็จมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่บ้านเชียง
ฟ้อนไทพวนบ้านเชียงในพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษชาวบ้านเชียงและปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ในช่วงงานฉลองมรดกโลกบ้านเชียง

๓) การแสดงรำวงย้อนยุคสาวไทพวนบ้านเชียง ๕,๐๐๐ ปี เป็นชุดการแสดงรำวงพื้นบ้านของชุมชน ชาวบ้านเชียง ซึ่งจะแต่งกายด้วยชุดผ้าย้อมครามบ้านเชียง ในดนตรีพื้นบ้านแบบสนุกสนานให้ผู้ชมสามารถมาร่วมรำวงร่วมด้วย

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น กีฬา การละเล่นท้องถิ่น

๒.๓.๑ เทศกาลประเพณี งานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทุกวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยมีการจัดต่อเนื่องกันมาตั้งปี พ.ศ. ๒๕35

๒.๓.๒ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ชุมชนบ้านเชียง ถือปฏิบัติตาม ฮีต 12 คอง 14 (ประเพณีทำบุญทางพระพุทธศาสนาประจำเดือนต่าง ๆ ทั้ง 12 เดือน ใน 1 ปี ) ดังนี้ เดือนเจียง (เดือนอ้าย) การทำบุญเข้ากำ หรือเข้ากรรม เดือนยี่ การทำบุญคูนข้าว หรือ บุญคูนลาน เดือนสาม การทำบุญข้าวจี่ เดือนสี่ การทำบุญผะเหวด หรือบุญพระเวส เดือนห้า การทำบุญตรุษสงกรานต์ เดือนหก การทำบุญวิสาขบูชาและบั้งไฟ เดือนเจ็ด บุญเบิกบ้าน ส่วนที่บ้านเชียง เรียกว่า "บุญบือบ้าน” เดือนแปด การทำบุญเข้าพรรษาและแห่เทียนพรรษา เดือนเก้า การทำบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ การทำบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ด การทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสอง การทำบุญทอดกฐิน

๒.๔ อาหารท้องถิ่น /ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
ชุมชนบ้านเชียง มีสมบัติอันล้ำค่า นั่นก็คือ โบราณสถาน โบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า ซึ่งหลังจากที่มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กับ ประเทศไทยเป็นครั้งแรก นักท่องเที่ยว
ชาวต่างไทยและชาวต่างประเทศ ต่างก็รู้จักบ้านเชียงมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้าน
มรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ชุมชนบ้านเชียง จึงใช้โอกาสในการมองหาสิ่งที่เป็นแรงจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเชียงแล้วอยู่กับชาวบ้านเชียง จึงได้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ทอผ้า จักสาน
ปั้นหม้อเขียนสี มาเป็นจุดขาย และเปิดบ้านพักเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์มาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อมีการเปิดบ้านพักโฮมสเตย์แล้ว มีแนวความคิดในด้านอาหารพื้นบ้าน เช่น ไส้กรอกสมุนไพร
ต้มไก่บ้านใส่ใบมะขาม หมูแดดเดียว ลาบเป็ดบ้านเชียง และพัฒนาต่อยอดอาหารเพื่อการท่องเที่ยวโปรแกรม "ตามรอยดินดำอารยธรรมบ้านเชียง” เมนู "ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวานบ้านเชียง” เป็นอาหารต้อนรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ ของบ้านเชียง ณ บ้านอาร์โฮมสเตย์
อาหารพื้นบ้าน และอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่เน้นสุขภาพ ด้วยสมุนไพรในพื้นที่ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอผ้า จักสาน ปั้นหม้อเขียนสี เฮือนไทพวนโบราณ อาคารบ้านเรือนไม้ กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้
อาคารบ้านเรือน ชุมชนบ้านเชียง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ "บ้านไทพวน”เป็นสถาปัตยกรรม
ด้านอาคารบ้านเรือนที่ควรค่าแก่การอนุรักษณ์ แสดงให้เห็นรูปแบบการก่อสร้างบ้านในสมัยโบราณของชุมชน ปัจจุบันได้มีการการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ คล้ายบ้านไทพวน โดยคนในชุมชนหลายครอบครัว มียังคงอนุรักษ์และรักษา และคงไว้ซึ่งบ้านเรือนแบบดั้งเดิม

ศาสนสถาน สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และสามารถต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น วัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง หมู่ที่ ๑๑ มีพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นกลางแจ้ง , พระใหญ่ วัดเทพประทานพร บ้านเชียง หมู่ที่ ๙ , อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ วัดสันติวนาราม บ้านเชียง หมู่ที่ ๑๑

ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่ บริเวณถนนหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
หมู่บ้านพิพิธภัณฑ์ หมู่ที่ ๑๓ มีลานวัฒนธรรมจัดกิจกรรมของชุมชน และการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ ของฝากบ้านเชียง และเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวนบ้านเชียง

ศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวนบ้านเชียง โดย สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง , ศูนย์เรียนรู้ปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียง หมู่ที่ ๑๓ โดย นายชาตรี ตะโจประรัง ประธานกลุ่ม , กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเทศบาลบ้านเชียง หมู่ที่ ๑ โดย นายสมบัติ มัญญะหงส์ , กลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านดงเย็น หมู่ที่ ๔ และ
กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านดงยาง บ้านเชียง หมู่ที่ ๖

๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนบ้านเชียง มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์กรยูเนสโก คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จัดแสดงวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบที่บ้านเชียงและพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมทั้งนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน หลังจากการเสด็จประพาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 กรมศิลปากรได้ปรับปรุงหลุมขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในเพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย บ้านไทพวน บ้านต้นแบบดั้งเดิมของไทพวนบ้านเชียง ได้รับพระราชทานรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2550 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ในชุมชนบ้านเชียง มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ที่ วัดสันติวนาราม บ้านเชียง หมู่ที่ ๑๑
เป็นศูนย์เรียนรู้การทำนา ทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักปลอดสารพิษ เมื่อถึงฤดูทำนามีการลงแขกดำนา เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็มีการลงแขกเกี่ยวข้าว โดยมีประชาชนและส่วนราชการเข้าร่วมกิจกรรม ผลผลิตนำมาแบ่งปัน ทำบุญ และไว้ใช้ในกิจการของวัด

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ศูนย์เรียนรู้ปั้นหม้อเขียนสี ตั้งอยู่ที่ 49 หมู่ 13 บ้านพิพิธภัณฑ์ ตำบล บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี 41320 โดยมีนายชาตรี ตะโจประรัง เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการ ศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าย้อมคราม ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการออกแบบลายผ้า
การมัดหมี่ การย้อมผ้าด้วยคราม การทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นได้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสาน
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในชุมชนบ้านเชียง มีการทำเกษตรผสมผสาน ดังนี้

๑) เกษตรผสมผสาน ของ นางดารุณี วงศ์คำพระ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ซึ่งได้มีการเกษตรผสมผสาน
และการเลี้ยงสัตว์ตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีการจัดระบบภายในสวนอย่างเป็นระบบสามารถเดินเที่ยวชมในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เก็บผัก เก็บผลผลิตทางการเกษตรได้

๒) เกษตรผสมผสาน ของ นางสุนิสา สุขประเสริฐ หมู่ที่ ๑๑ ได้ใช้ที่นามาจัดทำการเกษตรแบบ
ผสมผสาน ตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แบ่งพื้นที่ออกเป็นที่เพาะปลูกพืช เช่น ฟักทอง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว บวบ มะเขือเทศ พริก ฯ ทำนาทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ วัว ปลา เป็นสถานที่จัดอบรมทางการเกษตร

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
ชุมชนบ้านเชียง มีสถานที่ทางธรรมชาติที่สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ได้ดังนี้ บึงนาคำ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 13 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ. อุดรธานี เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ใจกลางชุมชนบ้านเชียง ซึ่ง ปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ซึ่งเป็นกำนันในสมัยนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านทำการขุดลอกหนองน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำในการทำการเกษตร จนมาถึงปัจจุบัน วัดสันติวนาราม (วัดดงไร่) พื้นที่ของวัดครอบคลุม ๑,๓๕๐ ไร่ เป็นป่าไม้ธรรมชาติ ๑,๐๐๐ ไร่
เป็นหนองน้ำ ๑๐๐ ไร่ พื้นที่วัดซึ่งเป็นสถานที่ปลูกสร้างเสนาสนะต่าง ๆ และมีลานเอนกประสงค์ ๑๓๐ ไร่ ภายในวัดมีความร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาพันธ์ และดอกไม้ต่าง ๆ ที่วัดได้ปลูกขึ้น รวมทั้งสัตว์ เช่น ปลา กวาง นกนานาชนิด



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตรการทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
การท่องเที่ยวชุมชนบ้านเชียง มี ๗ หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ และ หมู่ที่ ๑๓
กิจกรรมในชุมชม พิธีบายศรีสู่ขวัญ ต้อนรับผู้มาเยือน , ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ฟ้อนระบำบ้านเชียง (รำไทพวน) และฝึกท่ารำพื้นฐาน , เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานบ้านเชียง แหล่งเรียนรู้
ทางประวัติศาสตร์ของชาวไทพวน, เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา และเขียนสีลวดลายบ้านเชียง ณ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปั้นหม้อเขียนไห , เรียนรู้การจักสาน, ทอผ้า และ มัดย้อม, กิจกรรมของฝากที่ระลึก DIY แม็คเน็ต พวงกุญแจ
ถ้วยกาแฟ ถ้วย ชามบ้านเชียง , กิจกรรมชมศาสนสถานที่สวยงาม เช่น อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ พระใหญ่วัดเทพประทานพร โบสถวิหารวัดสระแก้ว โบสถวิหารและหลุมขุดค้น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวัดโพธิ์ศรีใน

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ
ชุมชนบ้านเชียง มีเรื่องราวถ่ายทอดแหล่งท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศูนย์เรียนรู้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมให้กับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ ซึ่งมีช่องทางในการสื่อสารมากมาย เช่น เพจเฟสบุ๊ก : เทศบาลตำบลบ้านเชียง เพจเฟสบุ๊ก : ไกด์บุ๊คบ้านเชียง เพจเฟสบุ๊ก : การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเชียง สื่อโทรทัศน์ ช่อง Youtube แอปพลิเคชั่น "BCH Bike”
นอกจากนั้นยังมีป้ายประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยว มีจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพสวย ๆ พร้อมทั้งมีบริการให้เช่าชุดไทพวนใส่ถ่ายภาพตามจุดต่าง ๆ ของบ้านเชียง , Street Art บ้านเชียง

ช่องทางการประชาสัมพันธ์

- Facebook : โฮมสเตย์บ้านเชียง อุดรธานี https://www.facebook.com/profile.php?id=100001992934121
- Facebook : https://www.facebook.com/Ambassadorbanchiang (ไกด์บุ๊คบ้านเชียง)
https://www.facebook.com/ArukBanchaing/posts/608755169526924/ (การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านเชียง)
- Facebook "ชวนไหมไทย ผ้าไทยเพจใหม่” https://www.facebook.com/profile.php?
- Website : https://www.thailandvillageacademy.com/th/22-villages-th/tambon-ban-chiang-cultural-tourism-community-udon-thani-th/
https://www.trtaward.com/best-creative-experience/baan-chiang-udon-thani/
- YouTube : https://www.youtube.com/watch?v=Qm02jGYEoRQ&t=6s บวร On Tour ชุมชนคุณธรรมบ้านพิพิธภัณฑ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- YouTube : ท่องเที่ยวบ้านเชียง https://www.youtube.com/user/koigallery1 (ไกด์บุ๊คบ้านเชียง)

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง
ชุมชนบ้านเชียงได้มีการจัดโปรแกรมนำเที่ยวภายในชุมชนหลายโปรแกรมเพื่อความยืดยุ่นตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ดังนี้

โปรแกรมท่องเที่ยวภายในชุมชน
๑) โปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยว (Route) ๑ วัน "ไปวันเดียว เที่ยว ๒ ดง” ไม่ค้างคืน
๒) โปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยว (Route) ๒ วัน ๑ คืน "ตามรอยดินดำ แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง”
๓) โปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยว (Route) ๒ วัน ๑ คืน "ท่องเที่ยวชุมชนนิเวศวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง”














แชร์


Facebook share Twitter share LINE share