กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๓๑/๑o/๒๕๖๕

ชุมชนวัดทรายขาว


ชุมชนวัดทรายขาว ที่ตั้ง หมู่ ๓ ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
๑. การบริหารจัดการชุมชน
๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ผู้นำชุมชนมีความรู้ ความสามารถ มีความโปร่งใส ในการขับเคลื่อนงานชุมชน เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จิตอาสา และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชนให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนาชุมชน มีการแจ้งข่าวสารของหน่วยงานราชการทุกครั้ง และปฏิบัติตนอยู่บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในชุมชน และสังคม รู้หน้าที่ของตน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชน

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการมีขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลัง บวร เป็นแกนกลางในการประสานการดำเนินงานและขับเคลื่อนชุนคุณธรรมฯ ตามกระบวนการ ๙ ขั้นตอน ตลอดจนบูรณาการกิจกรรมโครงการของทุกหน่วยงานที่ดำเนินการในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง มีการประชุมหรือปรึกษาหารือเพื่อกำหนดแนวทางกำกับ ติดตาม ประเมินความสำเร็จการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา และส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชน อยู่ดี กินดี และมีความสุข ดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและสืบสานวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชน ทำให้ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข มี ปฏิบัติตามคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและได้รับการสนับสนุนทรัพยากร จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ทำให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อส่งเสริมคุณธรรมใน ๓ มิติ ทั้งทางด้านศาสนา กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน ประเพณีสรงน้ำพระครูศรีรัตนากร(พ่อทวดศรีแก้ว) กิจกรรมบวชต้นไม้ และจิตอาสาทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชน อย่างชัดเจน
หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชน เกษตรตำบล กศน.ตำบล ฯลฯ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน โดยกิจกรรมยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อนชุมชน โดยให้ประชาชนในชุมชนร่วมคิด ร่วมทำ สร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และ พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และเนื่องด้วยชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว เป็นชุมชนที่มีการทำการเกษตร จึงมีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาชุมชน สร้างรายได้โดยมีหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้คอยให้ความรู้ สนับสนุน และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีมีส่วนร่วมในการสนับสนุน การจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ซึ่งมีการจัดทำแผนชุมชน กิจกรรมจากความต้องการของชุมชน มีนโยบายในการสร้างชุมชนคุณธรรมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เสริมสร้างสังคม ทั้งในมิติวัฒนธรรม มิติท่องเที่ยววัฒนธรรม
ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยชุมชนคุณธรรมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีความโดดเด่นพื้นฐาน ๓ ประการ คือ ๑) ยึดและปฏิบัติตามหลักธรรมคุณธรรมของแต่ละศาสนา ๒) น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ๓) ดำรงชีวิตตามแบบวิถีวัฒนธรรมไทย สามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยมาสร้างมูลค่าเพิ่ม นำรายได้สู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙)
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว มีการบริหารจัดการชุมชน โดยผู้นำชุมชน ร่วมกับอสม. สาธารณสุขตำบลคณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งด่านเพื่อคัดกรองการเข้าออกหมู่บ้าน ทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญของไทย และช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) อย่างหนัก และมีการประชุม ร่วมกันทุกฝ่ายในการเฝ้าระวังในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) และจัดให้มีตู้ปันสุข เครื่องของกิน ของใช้ ให้กับประชานชุมชน และสำหรับกลุ่มอาชีพมีมาตราการในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนโดยมีเจลแฮลกอฮอล์วางไว้ที่กลุ่มทุกกลุ่มอาชีพ



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น
๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ /ภาษา /เครื่องแต่งกาย
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว ชุมชน ๒ วิถี ๒ วัฒนธรรม ผสมผสานทางวัฒนธรรม คือ วิถีพุทธและวิถีมุสลิม ก่อให้เกิดวิถีชีวิต ไม่นำเอาศาสนามาเป็นเรื่องแบ่งกันในการอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมชนบทที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และใช้ภาษาเดียวกันด้วยภาษาถิ่นใต้ในการสื่อสารกันระหว่างชาวไทยพุทธ และมุสลิม จึงทำให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไว้วางใจกัน สำหรับการแต่งกายที่เหมือนกัน คือการนุ่งผ้าปาเต๊ะ มีสีสันสวยงาม ผสมผสานระหว่างชาวไทยพุทธ และมุสลิม ที่แสดงให้เห็นถึงความรัก กลมเกลียวกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

๒.๒ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ศิลปะการแสดง สื่อให้เห็นถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว เป็นการรวมกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษ รุ่นต่อรุ่น ซึ่งจะมีการแสดงกลองยาว ดีกา (สิละ) และมโนราห์

๒.๓ เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น /กีฬา การละเล่นท้องถิ่น
เทศกาล ประเพณีที่สำคัญของชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และเป็นการระลึกถึงบุคคลสำคัญในสมัยก่อน จึงทำให้เกิดประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ ประเพณีสรงน้ำพระครูศรีรัตนากร(พ่อทวดศรีแก้ว) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ซึ่งเป็นผู้ค้นพบน้ำตกทรายขาว และเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางสายนาประดู่ สู่น้ำตกทรายขาวด้วยพลังแห่งความศรัทธา และความรัก สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน และประเพณีแห่ผ้าพระมหามุนินโลกนาถ ตักบาตรเขารังเกียบ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบ ต่อกันมาเพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่แห่งนี้ เป็นความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

๒.๔ อาหารท้องถิ่น /ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
อาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นอาหารที่แปรรูปมาจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน นำมาประกอบอาหารได้อย่างมีคุณค่า และคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ยำส้มแขก แกงกะทิหยวกกล้วย ผักน้ำพริก ฯลฯ

ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ๒ วิถี มีประชาชนที่นับถือพุทธ และอิสลามอาศัยอยู่ร่วมกัน ความผูกพันของชาวทรายขาวมีมาตั้งแต่ครั้งอดีต และไม่เคยลดน้อยลงเลย เวลามีการจัดงานประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประชาชนทั้งสองศาสนิกจะมาร่วมงานซึ่งกัน และกัน เป็นการแสดงความแน่นแฟ้น ไม่แบ่งแยกศาสนา ศาสนสถานที่สำคัญของชาวทรายขาวทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ล้วนเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ จะเห็นได้จากเวลามีกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ จัดกิจกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านและอาหารโบราณ โดยมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ร่วมกันจัดกิจกรรม หรือ กิจกรรมการกวนขนมอาซูรอของชาวไทยมุสลิม ซึ่งต้องใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันกวนขนมคนละไม้คนละมือ ซึ่งก็มีทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิมมาร่วมด้วยช่วยกัน ไม่เพียงแต่การกวนอาซูรอเท่านั้น แต่หากมีกิจกรรม และงานประเพณีต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาชาวบ้านทรายขาวก็จะทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักศาสนา และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ไม่เพียงแต่กิจกรรมทางศาสนาหรือในวิถีชีวิต แม้แต่การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น ในการเลือกกำนัน จะต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน และในแต่ละสมัยก็จะมีการผลัดเปลี่ยนกันของทั้งสองศาสนา ถ้าเป็นวาระที่เป็นของผู้นำที่นับถือศาสนาพุทธ พี่น้องมุสลิมจะไม่ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเลย แต่หากวาระนั้นเป็นของผู้นำที่นับถือศาสนาอิสลาม พี่น้องไทยพุทธก็จะไม่ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเลยเช่นกัน ถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกัน และกันตามฉันทามติร่วมกันของชาวชุมชนทรายขา



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน
๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน ศาสนสถาน ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านศิลปิน หอศิลป์
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ศาสนสถาน คือ วัดทรายขาว เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยท่านภักดีชุมพล(นายเพ็ง) ที่ได้อพยพพรรคพวกมาจากเมืองไทรบุรี(รัฐเคดะห์)ประเทศมาเลย์เซียได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้ต่อมาได้บริจาคที่ดินสร้างเป็นวัดแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาวัดทรายขาวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๒

๓.๒ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบผสมผสานไทยพุทธ มุสลิม มีตำนาน ประวัติศาสตร์ ในเรื่องของศาสนสถานในพื้นที่ตำบลทรายขาว มาอย่างยาวนาน โดยมัสยิดบ้านควนลังงา หรือมัสยิดนัจมุดดีน เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปี เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลามมีการก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมมุสลิมซึ่งทำให้มัสยิดแห่งนี้มีลักษณะคล้ายศาลาการเปรียญของไทย และ ในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดทรายขาว และชาวบ้านมุสลิมและไทยพุทธในพื้นที่ ได้ร่วมแรงร่วมใจ ก่อสร้างมัสยิดหลังนี้ โดยไม้ที่นำมาใช้ก่อสร้าง คือไม้แคและไม้ตะเคียน (กายูจืองา) ซึ่งมาจากป่าในเทือกเขาสันกาลาคีรี จากนั้นใช้ขวานถากเสาให้เป็นสี่เหลี่ยม ใช้ลิ่มที่ทำจากไม้ นับเป็นภูมิปัญญาและความสมานสามัคคี ของชาวชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างศาสนสถาน และวัฒนธรรมสถานที่งดงามล้ำค่าทางศิลปะแบบราชอาณาจักรลังกาสุกะ และที่นี่ มีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเขียนด้วยมือ ปกทำจากเปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ และมีกลองขนาดใหญ่ หรือเรียกว่า กลองนางญา ถูกสร้างมาพร้อมกับมัสยิดหลังนี้ด้วย

๓.๓ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พอเพียง พอมี พอกิน การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ปลูกพืช ผักผลไม้ เลี้ยงปลา แบบผสมผสาน พอเพียง เลี้ยงชีพ

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนเกษตรอินทรีย์ สวนผสม ไร่ สวน นา ฟาร์ม เกษตรผสมผสาน
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว มีแหล่งท่องเที่ยวเที่ยวเชิงเกษตร มีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ปลูกพืช ผักผลไม้ เลี้ยงปลา แบบผสมผสาน พอเพียง เลี้ยงชีพ มีศูนย์เพาะชำกล้าไม้ และชมต้นยางนา ที่มีอายุยืนยาว และชุมชนมีผลไม้ทางการเกษตรที่โด่งดัง คือทุเรียนหมอนทองทรายขาว ที่มีรสชาติแตกต่างจากที่อื่น มีความอร่อย หวานมัน เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว

๓.๕ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน จุดชมวิว น้ำพุร้อน น้ำแร่ และอื่น ๆ
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ที่มีความโดดเด่น จุดที่ชมวิวทะเลหมอก ขอพรถ้ำวิปัสสนาเขารังเกียบ สักการะพระพุทธมหามุนินโลกนาถ ชมหินสลักพระนามาภิไธย ดูหินผาพญางูมีลักษณะคล้ายหัวงู)



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญ ตักบาตร
การทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน ฯลฯ
กิจกรรมสำหรับให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วม เป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีของชุมชน การทำอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน) โดยให้นักท่องเที่ยวได้ทำอาหารที่อยากทำ เช่น แกงพื้นบ้าน(แกงหยวกกล้วย แกงขี้เหล็ก)ข้าวต้มใบกะพ้อ และเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ป้ายประชาสัมพันธ์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ ฯลฯ
- Facebook : การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านทรายขาว
- Website : https://www.youtube.com/watch?v=BcxtQgrVhFw
- YouTube : บวร On Tour ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว
- https://www.youtube.com/watch?v=fTL๕jgucS๑k

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว ของชุมชน กับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง
เส้นทางการท่องเที่ยว/โปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชน

๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ โรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน รวมทั้งมีร้านอาหารท้องถิ่น และการบริการอื่นๆ
ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว มีโฮมเตย์ สามารถมาพักผ่อน เป็นบ้านพักที่มีความสะดวกสบาย มี ๖ หลังคาเรือน พักได้หลังละ ๕ คน ค่าบริการ คนละ ๑๖๐ บาท/คน/คืน (ไม่รวมค่าอาหาร) ค่าอาหารเช้า ๘๐ บาท/คน อาหารเที่ยงและเย็น ๑๘๐ บาท/คน/มื้อ และอาหารว่างมื้อละ ๓๕ บาท/คน ค่ารถจิ๊บโบราณ คันละ ๑,๐๐๐ บาท/วัน นั่งได้ ๕ คน

๔.๕ มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง

๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและการบริการอื่นๆ เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
บริเวณหน้ากลุ่มโฮมเสตย์ วัดทรายขาว และอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว มีที่จอดรถ และมีห้องน้ำไว้รองรับนักท่องเที่ยว



๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
- ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ชื่อผู้ประกอบการ นางสาวนัชฎาภรณ์ พรหมสุข เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙ ๒๙๘๘๔๙๕
- ส้มแขกแปรรูป ชื่อผู้ประกอบการ นางนลพรรณ พรหมสุข เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๖ ๒๙๑ ๙๘๙๒
- กล้วยเส้นปรุงรส ชื่อผู้ประกอบการ นางชญาภา สุวรรณรัตน์ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙ ๒๙๕๔๕๘๔
- จานกาบหมาก ชื่อผู้ประกอบการ นายวิสุทธิ์ อินสะพรหม เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑ ๖๗๘๔๙๖๙

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการ ของผู้บริโภค ในปัจจุบัน
ผ้าทอจวนตานี ชื่อยี่ห้อ/แบรน ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ของตำบลทรายขาวเป็นการทอแบบสืบทอดจากผ้าเก่าที่มีอายุรวม ๑๐๐ กว่าปี นิยมใช้ในพิธีการที่สำคัญ ๆ เช่น พิธีการแต่งงาน พิธีเข้าสุหนัตของชาวมุสลิมการทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดปัตตานีมีมานานแล้วตั้งแต่ยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยาหลักฐานวัฒนธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในวรรณคดี เรื่อง "ดาหลา” ในพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุณฑลเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อย่างตอนที่อิเหนาปลอมตัวเป็นดาหลาหลังไปเล่นหนังให้ท้าวดาหาดู อิเหนาได้นุ่งผ้าจวนตานีผืนในแต่ละคืนที่เล่นหนังไม่ซ้ำกัน ชื่อผู้ประกอบการ นางสาวนัชฎาภรณ์ พรหมสุขเบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙ ๒๙๘๘๔๙๕

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน จะตั้งอยู่ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี กลุ่มส้มแขกแปรรูป และกลุ่มกล้วยเส้นปรุงรส ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดความสนใจ ของนักท่องเที่ยว
กลุ่มผลิตภัณฑ์ในชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว ทุกกลุ่มมีการถ่ายทอดให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ โดยการสาธิตให้ดูพร้อมปฏิบัติ สร้างความเป็นกันเองและการเป็นเจ้าบ้านที่ดีต่อนักท่องเที่ยว

๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และ Onsite
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ดำเนินการจัดรายการไลฟ์สด ช่องทาง facebook สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ขายสินค้าจากชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว (กิจกรรมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากชุมชนคุณธรรมจังหวัดปัตตานี โครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อออนไลน์จังหวัดปัตตานี)
ชุมชนออกบูธ เพื่อจำหน่ายสินคาผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มและชุมชนชนตลอดมา














แชร์


Facebook share Twitter share LINE share