สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง



องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีวันสงกรานต์

วันที่ 23 ก.ย. 2564

ประเพณีวันสงกรานต์

ความเป็นมา
ประเพณีวันสงกรานต์ เป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือน 5 ตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีวันสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้ตราขึ้น กล่าวถึงการพระราชพิธีเผด็จศกและพระราชพิธีลดแจตร พระราชพิธีเผด็จศกเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่า ขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิฐานว่าหมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน 5 แสดงให้เห็นว่าประเพณีวันสงกรานต์ของหลวงมีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยก่อนไทยใช้ จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่
เสถียร โกเศศ อธิบายคำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก "สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย นับถือศาสนาฮินดูมีประเพณีฉลองปีใหม่ที่เรียกว่าทิวาลี ในฤดูใบไม้ผลิ เป็นเวลานานมาแล้ว ในสมัยโบราณไทยนับเดือนตามจันทรคติและฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม ประเพณีวันสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย
วันว่าง เป็นประเพณีสำคัญของชาวภาคใต้ คล้ายประเพณีสงกรานต์ของภาคอื่นๆ แต่มีขนบในการปฏิบัติแตกต่างกันหลายลักษณะ ที่สำคัญคือต้องงดเว้นเสาะหาเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า ต้องงดเว้นการซ้อมสีข้าวสาร เว้นการออกหากับข้าวปูปลา ผักหญ้า ห้ามไม้ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ตัดรานต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์บกสัตว์น้ำทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบและด่าว่าลูกหลานหรือใครๆ ทั้งสิ้น ไม่เฆี่ยนตีลงโทษแก่สัตว์หรือคน ห้ามขึ้นต้นไม้ (ยกเว้นผู้ที่ทำตาลโตนดหรือมะพร้าว) ในสมัยก่อนแม้แต่โจรผู้ร้ายก็ต้องงดเว้นการโจรกรรมในช่วงวันว่าง ต้องปล่อยสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ให้หากินได้อย่างเสรีไม่มีการผูกล่าม นอกจากนี้ยังต้องประกอบการกุศล ทำบุญทำทาน มีการตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระพุทธรูป มีการแสดงความเมตตาปราณี ปล่อยนกปล่อยปลา ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์ ไม่ทำอารมณ์ให้ขุนหมอง ต้องร่าเริงแจ่มใส ทั้งต้องแสดงความกตเวทีต่อผู้ใหญ่ มีการอาบน้ำ "สระหัว” แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ และจัดหาผ้าใหม่ไปให้ท่านนุ่งห่มแล้วขอศีลขอพรจากท่านและยังมีพิธีมงคลอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ชาวพัทลุงถือปฏิบัติกันในเดือน 5 ทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี และถือกันว่าในวันที่ 13 เมษายนเป็นสันสงกรานต์เชื่อกันว่าวันนี้เป็นวันที่เทวดาประจำปีจะเดินทางออกจากเมือง วันที่ 14 เมษายนเป็นวันเนา เพราะเทวดาได้ออกจากเมืองไปแล้ว และเทวดาองใหม่ยังมาไม่ถึง วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ถือกันว่าเป็นวันที่เทวดาองค์ใหม่ได้เดินทางมาถึง เพื่อรักษาบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะวันเนา ซึ่งถือกันว่าเป็นวันไม่มีเทวดารักษาบ้านเมือง จึงเรียกกันว่า "วันว่าง” (หมายถึงว่างเทวดา)

ความสำคัญ
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์กระทำกัน 3 วัน ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน ซึ่งตรงกับเดือน 5 ของทุกปี ถ้าปีใดมีอธิมาส คือมีเดือน 8 สองหน วันว่างนั้นจะตกอยู่ในเดือน 6
ตามประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ของภาคใต้ที่มาแต่โบราณ ก่อนถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอก ออกตระเวนตามบ้านเรือนทั่วทุกครัวเรือนเพื่อขับเป็นบทกลอนตามทำนองของเพลงบอก เพื่อบอกว่ากำหนดวันว่างตรงกับวันเดือนใดของปี ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่อาจบอกละเอียดไปถึงเรื่องวันสำคัญของปีนั้น เช่น วันใดเป็นวันดี วันใดเป็นวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ปีใหม่จะมีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ พืชพรรณธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ มีนาคให้น้ำกี่ตัว มีการร้องบอกเล่าตำนานสงกรานต์เหล่านี้ เป็นต้น บรรดาเพลงบอกเหล่านี้จะร้องบอกเป็นกลอนสดร่ายไปทุกครัวเรือน และอาจสดุดีหรือสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และอาจ "ชาขวัญข้าว” (สดุดีแม่โพสพ) ให้แก่ชาวบ้านที่ปรารถนาจะให้มีเพลงบอกจึงเป็นของคู่กันกับประเพณี "วันว่าง”
วันสงกรานต์ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย เพราะวันนี้ เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน เป็นวันแสดงความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และวันนี้ยังเป็นวันที่ครอบครัว จะได้อยู่พร้อมหน้า เนื่องจากหลาย ๆ ครอบครัว ที่มีลูกหลานที่ไปทำงานในต่างจังหวัด ก็จะได้ใช้โอกาสนี้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ทั้งการขนทรายเข้าวัด ทำบุญ ทำทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้เสริมสร้างคุณค่า และความสำคัญของวันสงกรานต์ ให้ทวีคูณยิ่งขึ้น และส่งผลให้วันสงกรานต์ เป็นวันที่มีคุณค่า และความหมายต่อหลาย ๆ คน
ประเพณีวันสงกรานต์ ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งมีความสำคัญ ดังนี้
- วันที่ 13 เมษายน ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุ ด้วย โดยรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมมาแล้ว สำหรับที่มาของ "วันผู้สูงอายุ" นั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน ประสบปัญหาในการทำมาหากินและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุ" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน
- วันที่ 14 เมษายน รัฐบาลกำหนดให้เป็น "วันครอบครัว” ของทุกปี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
สำหรับที่มาของ "วันครอบครัว” นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก
- วันที่ 15 เมษายน จะเรียกว่าเป็น "วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ หรือวันปีใหม่ไทย ที่นับตามแบบสมัยโบราณนั่นเอง ส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมไปเที่ยวกับครอบครัว หรือฉลองปีใหม่กันที่บ้านด้วยการทำกับข้าว กินข้าวมื้อใหญ่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีเคล็ดว่าทุกคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ หรือมีของใช้ส่วนตัวชิ้นใหม่ๆ อย่างน้อย 1 ชิ้น เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่นั่นเอง

พิธีกรรม
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ของภาคใต้ ปฏิบัติดังนี้
การเตรียมการ
ก่อนวันว่างมาถึงของภาคใต้ ทุกครัวเรือนต้องตระเตรียมการให้พร้อม คือต้องเร่งทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย เช่น ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในนาและขนย้ายที่เก็บให้หมด ใครกำลังปลูกบ้านสร้างเรือนใหม่ก็รีบสร้างให้เสร็จ ใครทอหูกทอผ้าต้องเร่งทอให้จบผืน ไม่ทิ้งค้างคากี่ไว้ มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียนจากเพื่อนบ้าน และถือว่าขัดจารีตไม่เป็นมงคล นอกจากนี้ทุกบ้านเรือนจะต้องจัดเตรียมอาหารมาสำรองไว้ให้พอใช้พอกินได้ตลอดเวลา 3 วัน เพราะในระยะเวลาวันว่างทั้ง 3 วัน ห้ามสีข้างซ้อมสารหาผักปลาดังกล่าวมาแล้ว แต่ละบ้านต้องนำสากนำครกมาวางไว้ในที่เปิดเผย เอาสากรวมเข้ามัดเดียวกัน ผูกด้วยด้ายแดงด้ายขาว ตั้งใส่ลงไว้ในครกแล้วใส่น้ำลงไว้ด้วย เรียกว่า "แช่สากแช่ครก” จะไม่ใช้งานในช่วงวันว่าง (ปัจจุบันเลิกปฏิบัติเกือบหมดแล้ว) สิ่งสำคัญที่ต้องจัดหาเตรียมไว้ คือ ข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าว สำหรับจะได้ไว้ทำขนม
พ่อบ้านแม่เรือนจะต้องจัดหาเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ไว้ให้ลูกหลานและตัวเอง สำหรับแต่งในวันว่าง ซึ่งถือเป็นคติว่าต้องใช้ของใหม่ แม้ผู้ที่อัตคัดขัดสนก็ต้องดิ้นรนจัดหาให้จนได้ ไม่ให้น้อยหน้าเพื่อบ้าน ผู้เป็นบุตรหลานก็จะเตรียมการหาผ้าแพรพรรณไว้สำหรับมอบให้บิดามารดาปู่ย่าตายายได้สวมใส่หลังจากอาบน้ำหรือ "สระหัว” ทั้งต้องเตรียมน้ำอบน้ำหอมไว้ให้พร้อม
ก่อนวันสิ้นปีเก่า (ก่อนถึงวันว่าง) 2 – 3 วัน ทุกบ้านเรือนต้องเตรียมการทำความสะอาดบริเวณบ้านเรือนของตน ปัด กวาด ตั้งแต่พื้นบ้าน ลานดิน เก็บขยะมูลฝอย ตลอดจนหยากไย่ตามพื้นใต้ถุนตามเพดาน ทำความสะอาดพื้นห้องครัว ขัดหม้อหุงต้ม (เอาดินหม้อออก) ให้สะอาดเป็นพิเศษ จัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ไถ คราด จอบ เสียม วางให้เป็นระเบียบเป็นที่เป็นทาง
ก่อนวันว่าง 1 – 2 วัน ต้องตัดผมตัดเล็บให้เรียบร้อยเพราะเมื่อถึงวันว่างห้ามกระทำ
วันประเพณี
เมื่อถึงวันว่าง ทุกคนต้องทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน พยายามประกอบกรรมดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตื่นแต่เช้าตรู่อาบน้ำแต่งตัวกันด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ ใครมีแก้วแหวนเงินทองก็นำมาประดับตกแต่งกันเต็มที่ ผู้ปกครองจะเปิดโอกาสให้บุตรสาวหลานสาวออกจากบ้านไปทำบุญและร่วมกิจกรรมอันเนื่องด้วยประเพณีวันว่างได้อย่างเสรีเช่นกัน ดังนั้นใครมีข้าวในนาในไร่ มีสวนผักผลไม้ก็ต้องระวังรักษาเอาเอง เพราะถ้าสัตว์เหล่านั้นไปกินพืชผักของใครก็จะไม่มีการปรับไหมเรียกร้องเอาค่าเสียหายแก่กัน
ตอนเช้าจะมีการตักบาตรเสร็จแล้วจะจัดเตรียมสำรับกับข้าว เพื่อนำไปทำบุญทำทานถวายภัตตาหารเพลที่วัด ซึ่งจะไปกันหมดทั้งครอบครัว ใครจะไปวัดไหนย่อมแล้วแต่ศรัทธา ส่วนมากจะไปวัดที่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบต่อกันมา ซึ่งในกรณีเช่นนี้โดยมากวัดนั้นๆ ก็จะเป็นที่เผาศพและเป็นที่เก็บกระดูกของบรรพบุรุษของครอบครัวเหล่านั้นด้วย เพราะในประเพณีนี้จะมีการบังสุกุลบัว (บัว คือ ที่เก็บกระดูก) ของปู่ย่าตายายเป็นส่วนสำคัญด้วย ดังนั้นผู้ที่ไปตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ห่างไกลจากถิ่นกำเนินมักจะกลับมาทำบุญที่บ้านเดิมในวันว่าง
สิ่งที่แต่ละครอบครัวจัดนำไปวัด นอกจากสำรับกับข้าวแล้ว มีพิเศษสำหรับเฉพาะประเพณีนี้คือ มัดรวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าว เพราะต่างก็เพิ่งผ่านฤดูเก็บเกี่ยว มามัดรวงข้าวนั้นจะต้องเอาข้าวพันธุ์ดีที่สุดและเป็นส่วนที่มีผลผลิตสูงที่สุด คือ รวงข้าวใหญ่ มีเมล็ดข้าวโตและดก คัดเลือกให้ได้ประมาณ 3 กำเล็ก ๆ แล้วใช้ด้ายสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามจัดวางบนพานหรือถาด นำไปประกอบพิธีทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัดเรียกว่า "ทำขวัญข้าวใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำมาหากินภายหน้าสืบไป
เมื่อทุกครัวเรือนต่างนำสำรับกับข้าวมาและรวงข้าวมาพร้อมกันที่วัดแล้ว ก็จะเริ่มพิธีทางศาสนา ร่วมกันสวดมนต์รับศีลฟังเทศน์ ถวายภัตตาหารเพล เสร็จแล้วจะมีการนิมนต์พระบังสุกุลกระดูกปู่ย่าตายาย ถ้าไม่มีกระดูกของบรรพบุรุษก็ใช้วิธีเขียนชื่อของบรรพบุรุษผู้นั้นใส่กระดาษแทน เพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้โดยถ้วนทั่ว แล้วนิมนต์พระประกอบพิธีทำขวัญข้าว (บางทีอาจให้ทายกทายิการับประทานอาหารเที่ยงเสียก่อนแล้วจึงค่อยประกอบพิธีทำขวัญข้าว)
ครอบครัวใดที่สร้างบัว สำหรับเป็นที่เก็บกระดูกของบรรพบุรุษไว้ในวัดนั้น ก็จะแยกย้ายกันไปเคารพสักการะบัวประจำตระกูลของตน ต่อจากนั้นอาจมีการทำบุญให้ทานตามอัธยาศัย
ต่อไปจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อสดงความเมตตาปราณีแก่สัตว์ ปลาและนกที่จะนำมาปล่อยนั้น มักตระเตรียมหามาล่วงหน้า ยิ่งใครสามารถเสาะหามาจากแหล่งที่สัตว์เหล่านั้นตกอยู่ภาวะทุกข์ทรมานมากเท่าใดก็จะถือว่าเป็นบุญกุศลมากเท่านั้น เช่น ปลาที่ตกค้างอยู่ในหนองที่น้ำกำลังจะแห้งขอด หรือนกที่บาดเจ็บซึ่งได้นำมารักษาจนหายพร้อมที่จะปล่อยให้ไปสู่ความอิสระอย่างปลอดภัย เป็นต้น
ต่อจากนั้นจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป โดยอัญเชิญมาประกอบพิธีร่วมกันในบริเวณวัด ต่อจากนั้นจะมีการอาบน้ำให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เห็นสมควร เรียกการอาบน้ำให้แก่ภิกษุและฆราวาสในวันว่างว่า "สระหัววันว่าง”
ประเพณีการสระหัววันว่างแก่ภิกษุหรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประชาชนยกย่องนับถือมากๆ มักจัดทำเป็นพิเศษโดยทำ "เบญจา” ขึ้นอย่างสวยงาม ประดับด้วยลายแทงหยวก ใต้ยอดเบญจาจะมีหัวพญานาคจะต่อเป็นท่อยาว ตกแต่งเป็นลำตัวพญานาค ทำให้ส่วนหางของพญานาคอยู่ในระดับสูงกว่าส่วนปาก ที่ปลายหางมีท่อน้ำต่อมาจากใต้ท้องลำเรือ ซึ่งวางไว้ในที่สูงและห่างจากเบญจาออกไป ยิ่งวางให้อยู่ห่างมากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความศรัทธาของผู้จัดมากเท่านั้น บุตรญาติมิตรที่มาร่วมแสดงความกตัญญูทุกคน มักเตรียมหาน้ำมาเองคนละขัน มักปรุงเจือด้วยน้ำหอมโรยกลีบดอกบัว กลีบกุหลาบ หรือดอกมะลิ และเครื่องประทิ่นอื่นๆ ต่างคนต่างก็นำน้ำนั้นไปเทลงในลำเรือจนถ้วนทั่ว(มักจัดหาน้ำสำรองไว้ให้ผู้ที่ไม่อาจนำน้ำมาเองได้) แล้วจึงนิมนต์พระภิกษุที่อาวุโสที่สุดขึ้นนั่งเหนือฐานเบญจาเรียบร้อยแล้วจึงปิดน้ำจากลำเรือให้ไหลมาตามท่อพุ่งกระจายออกจากทางช่องปากของพญานาค คล้ายนาคพ่นน้ำอาบรดให้ ซึ่งจะเปียกทั่วทั้งตัวเหตุนี้จึงเรียกว่า "สระหัว”
เหตุที่ต้องปล่อยน้ำผ่านพญานาคแทนการอาบรดด้วยมือโดยตรงเพราะถือคติว่า ผู้ใหญ่ (ทั้งภิกษุและฆราวาส) ที่เชิญมาสระหัวนั้นเป็นปูชนียบุคคล ไม่บังควรที่ผู้น้อยจะพึงละลาบละล้วงไปรุมล้อมกันถูกต้องหรือยกมือยกแขนข้ามคร่อมลำตัวหรือศีรษะ เป็นต้น และในกรณีที่เป็นพระภิกษุนั้น โดยวิธีนี้จะทำให้ผู้หญิงก็สามารถร่วมแสดงความกตัญญูได้เสมอเหมือนกันกับผู้ชาย นอกจากนี้ การทำเป็นพญานาค ท่อน้ำยังเป็นไปตามคติความเชื่อว่า พญานาคเป็นผู้ให้น้ำแก่มวลมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณเป็นนิมิตหมายของความร่มเย็นสุขกายสุขใจ ทำให้ผู้ได้อาบมีความเจริญสุขสืบไป
เมื่อได้ปล่อยน้ำอาบรดจนทั่วและมากพอสมควรแล้ว อาจจะมีผู้ใกล้ชิดบางคนช่วยขัดถูที่ปลายเท้าหรือตามแขนขาพอสมควรแล้วปล่อยน้ำอาบรดอีกครั้งก็เป็นเสร็จพิธี ให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดใหม่เอี่ยมที่จัดเตรียมมามอบให้ ผู้ได้อาบก็จะให้ศีลให้พรเพื่อเป็นสิริมงคลแก้ผู้ร่วมแสดงความกตัญญูโดยทั่วหน้า ต่อจากนั้นก็จะเชิญบุคคลอื่นที่มีอาวุโสรองลงมาตามลำดับ และตามที่สมาชิกส่วนใหญ่จะเห็นสมควร
ในกรณีที่คณะบุตรหลานของปู่ย่าตายายจะอาบน้ำให้เป็นการภายในเฉพาะในเครือญาติของตน มักจะอาบน้ำด้วยมือและขัดสีให้อย่างใกล้ชิดสนิทสนม และเมื่อได้ประพรมน้ำหอมทาแป้งให้แล้วจะมีตัวแทนของบุตรหลานมอบผ้าคู่ (ผ้านุ่งกับผ้าห่มหรือเสื้อ) ให้ท่านได้สวมใส่ด้วย ส่วนบุตรหลานคนอื่นๆ ใครจะมอบพิเศษไว้ให้ใช้อีกกี่ชุดก็ได้
นับแต่ประมาณ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เกิดประเพณีการ "สระหัววันว่าง” แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นในบางจังหวัดของภาคใต้และนิยมกันแพร่หลายยิ่งขึ้น จนปัจจุบันกระทำกันหลายจังหวัด หลายอำเภอ ทำให้เกิดความสนิทสัมพันธ์กันระหว่างข้าราชการผู้ใหญ่กับข้าราชการผู้น้อยและระหว่างประชาชนก่อให้เกิดประโยชน์นานาประการ
เมื่อเสร็จพิธีการสระหัวผู้เฒ่าผู้แก่แล้วก็จะมีการเล่นสาดน้ำซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างคนวัยเดียวกันและต่างวัยกันโดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน แต่จะไม่สาดพร่ำเพรื่อตามถนนหนทาง
ประเพณีวันว่างของภาคใต้ดั้งเดิมจริงๆ ไม่มีการประกวดนางสงกรานต์ ไม่มีการประกวดเทพี เหล่านี้เป็นคติของถิ่นอื่น
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแสดงคารวธรรมดังกล่าวแล้ว ต่อไปก็จะเป็นเรื่องร่นเริงสนุกสนานกันในแบบพื้นเมือง เช่น กีฬาหรือการละเล่นพื้นเมืองบางประเภทที่ทุกคนสามารถร่วมสนุกได้ เช่น เล่นโนราดิบ เล่นสะบ้าแลกเชลย แข่งวิ่งเรือ วิ่งวัว เป็นต้น สำหรับเด็กๆ ก็อาจจะมีการเล่นมอญซ่อนผ้า โยนหลุม (ทอยตรอก) ทอยกอง เป็นต้น การกีฬาหรือการแข่งขันเหล่านี้แต่โบราณจะไม่มีการเล่นพนันผสมหากแต่เป็นการสนับสนุนร่วมกันเพียงอย่างเดียว
การเล่นสนุกสนานจะมีต่อเนื่องกันไปทั้ง 3 วัน 3 คืน ทำให้เด็กๆ และหนุ่มสาวสนุกสนานและมีโอกาสรู้จักมักคุ้นกันเพราะถ้าไม่ใช่โอกาสเช่นนี้ ชาวใต้มักหวงลูกสาวไม่เปิดโอกาสให้พบปะกับผู้ชายได้ง่ายนัก
คุณค่าที่สำคัญยิ่งของประเพณีวันว่างอยู่ตรงที่ให้ทุกคนได้ทำกายทำใจให้ว่างเว้นจากความทุกข์กังวล ว่างจากพันธะการงาน ว่างจากอารมณ์เศร้าหมอง และเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ ให้เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี การให้อภัย การเสียสละ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา แม้ความว่างนั้นจะไม่ลึกซึ้งถึงขั้นปล่อยว่างตามหลักของ "นิพพาน” ก็ให้รู้จักทำกายและใจให้ว่างอย่าง่ายๆ อันจะช่วยให้ชิวิตมีความสุขยิ่งขึ้น คุณประโยชน์ของประเพณีวันว่าง สรุปได้ดังนี้
1. ทำให้ทุกคนมีโอกาสหยุดเว้นจากพันธะการงาน ได้เห็นคุณค่าของการพักผ่อน
2. ช่วยให้ทุกคนมีคุณธรรม เช่น เมตตาธรรม คารวธรรม มีความกตัญญูกตเวที
3. ช่วยให้เครือญาติและมิตรมีความรักใคร่ผูกพันกันยิ่งขึ้น
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ ในวันนี้ชาวพัทลุงจะหยุดการทำงานต่างๆ ทุกคนจะไปร่วมชุมนุมกันที่วัด คนเฒ่าคนแก่จะไปทำบุญบังสุกุล พ่อ แม่ ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว เด็กๆ และคนหนุ่มสาวจะนุ่งผ้าใหม่สวยงามเที่ยวสนุกสนาน มีการรดน้ำซึ่งกันและกัน และมีการอาบน้ำคนเฒ่าคนแก่หรือการทำพิธีรดน้ำดำหัวหรือพิธีขึ้นเบญจา นอกจากนี้จะมีงานรื่นเริงตามวัดต่างๆ บางครั้งมีการเล่นพนันกันมากในวันนี้ และในวันสงกรานต์นี้ เดิมจังหวัดพัทลุงจัดให้มีงานรื่นเริงทุกปี โดยจัดงานบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด มีการออกร้านของหน่วยราชการทุกอำเภอ การประกวดต่างๆ การแข่งขันกีฬา และการแสดงมหรสพพื้นเมือง ต่อมาการจัดงานได้ล้มเลิกไป นอกจากนี้ในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเถลิงศกใหม่ เป็นการรับเทวดาองค์ใหม่ ตามหมู่บ้านต่างๆ จะมีการทำพิธีรับเทวดา ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "รับเทียมดา” หรือ "รับเทวดา” โดยมีการจัดทำศาลเพียงตาแบ่งเป็นชั้นๆ สำหรับให้ชาวบ้านนำอาหาร มีข้าวสุก ปลามีหัวมีหาง น้ำ และธงรูปสามเหลี่ยม นำไปวางไว้บนศาลเพียงตา เสร็จแล้วพอตกค่ำชาวบ้านจะรวมตัวกันแห่ศาลเพียงตาไปถึงจุดที่กำหนดตามความเหมาะสม แล้วจึงทำพิธีสวดมนต์และสวดโองการชุมนุมเทวดาเรียกว่า "บทสักเค” เสร็จแล้วผู้ทำพิธีนำน้ำมนต์มาประพรม หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำธงของตนแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยนำธงไปปักไว้บนหลังคาบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลคุ้มครองบ้านเรือนและผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้เวลากลางคืนชาวบ้านรวมกลุ่มกันเล่นเพลงบอกหรือว่าเพลงบอกซึ่งเป็นการขับเพลงเกี่ยวกับสงกรานต์

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ชาวพัทลุงถือปฏิบัติกันในเดือน 5 ทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี และถือกันว่าในวันที่ 13 เมษายนเป็นสันสงกรานต์เชื่อกันว่าวันนี้เป็นวันที่เทวดาประจำปีจะเดินทางออกจากเมือง วันที่ 14 เมษายนเป็นวันเนา เพราะเทวดาได้ออกจากเมืองไปแล้ว และเทวดาองใหม่ยังมาไม่ถึง วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ถือกันว่าเป็นวันที่เทวดาองค์ใหม่ได้เดินทางมาถึง เพื่อรักษาบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะวันเนา ซึ่งถือกันว่าเป็นวันไม่มีเทวดารักษาบ้านเมือง จึงเรียกกันว่า "วันว่าง” (หมายถึงว่างเทวดา)

กิจกรรมตามประเพณี
ประเพณีวันว่างหรือวันสงกรานต์ เป็นประเพณีของชาวพัทลุงและชาวจังหวัดอื่นๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี ความกตัญญู และความสนุกสนานรื่นเริงตามประเพณีนิยม โดยทั่วไปจะจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ก่อนวันสงกรานต์
เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง กิจกรรมที่ทำ ได้แก่
- การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็นต้น
- การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย
- การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาวของหวานที่พิเศษ ได้แก่ การเตรียมขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษและวันสงกรานต์ นั่นคือ ข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และขนมกวนหรือกาละแมสำหรับวันสงกรานต์

วันสงกรานต์
เมื่อถึงวันสงกรานต์ เป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจให้เบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด ถือเป็นการสร้างบุญกุศลให้ตนเอง และอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
2. การทำบุญอัฐิ อาจจะทำตอนไหนก็ได้ เช่น หลังจากพระภิกษุ-สามเณรฉันเพลแล้ว หรือจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ ฉันเพลที่บ้าน แล้วบังสุกุลก็ได้ การทำบุญอัฐิ อาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หากไม่มีให้เขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษ เมื่อบังสุกุลเสร็จจึงเผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เช่นเดียวกับการเผาศพ
3. การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป
3.1 การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่านหรือที่ ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย
3.2 การสรงน้ำพระพุทธรูป อาจจะจัดเป็นขบวนแห่ หรือเชิญมาประดิษฐานในที่อันเหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ
4. การก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน เพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด
5. การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการปล่อยนกปล่อยปลา ที่ติดกับดัก บ่วง ให้ไปสู่อิสระ หรือปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจจะตายได้ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบเดิม ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาเคราะห์ร้าย ให้มีความสุขสบายในวันขึ้นปีใหม่
6. การรดน้ำผู้ใหญ่ หรือการรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การรดน้ำผู้ใหญ่อาจจะรดน้ำทั้งตัวหรือรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ ดังนั้น จึงควรมีผ้านุ่งห่มไปมอบให้ด้วย เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว
7. การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่าง ๆ แล้ว เป็นการเล่นรดน้ำเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบา ๆ ด้วยความสุภาพ
8. การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ เช่น ศิลปะการแสดงสุดแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
ประเพณีปฎิบัติเหล่านี้ อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น การจะยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ประเพณีสงกรานต์,(กรุงเทพ : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์) หน้า 1
- ชัยวุฒิ พิยะกูล, ประเพณีท้องถิ่นพัทลุง,(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2544) หน้า 251
"วันว่าง”. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 14 . หน้า 7164 - 7167. กรุงเทพฯ.
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542
-วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพัทลุง. หน้า 251-252 : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
รวบรวมโดย นางจำเป็น เรืองหิรัญ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
pic
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง และงานประสานขอพระราชทานเพลิง ตั้งอยู่ : ศาลากลางจังหวัดพัทลุง (หลังเก่า) ชั้น ๒
ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๙
 
กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตั้งอยู่ : วัดภูผาภิมุข ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๕๓๔๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๐๙๐๙
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม