สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง



แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว >> สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม)

วันที่ 19 ก.ย. 2565

พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม)
 
๑. ชื่อแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม)
 
๒. ที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
    พิกัด ละติจูด ๗.๔๙๙๕๓๖   ลองติจูด ๑๐๐.๑๙๑๙๓๒
 
๓. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม) หรือพิพิธภัณฑ์ของชาติวัดเขียนบางแก้ว สร้างขึ้นโดยดำริของพระครู สังฆรักษ์ (เพิ่ม ฐานภทฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขียนบางแก้ว ซึ่งต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูกาเดิม โดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคของประชาชนจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้แก่วัดเขียนบางแก้ว ใน พ.ศ. ๒๕๒๑ และสามารถดำเนินการก่อสร้างและจัดแสดงโบราณวัตถุจนแล้วเสร็จในระหว่างพ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๘ ทั้งนี้อาคารพิพิธภัณฑ์มีรูปแบบเป็นอาคารไทยประยุกต์ ก่อสร้างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖.๔๖ เมตร และยาว ๑๗.๓๕ เมตร โดยมีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ บริเวณผนังอาคารประดับด้วยเสาติดผนัง และที่ส่วนบนของผนังเจาะช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนหลังคาเป็นทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีมุขด้านทิศใต้ และล้อมรอบด้วยหลังคาปีกนกทั้ง ๔ ด้าน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบภายในบริเวณวัดเขียนบางแก้ว โคกเมืองบางแก้ว และบริเวณใกล้เคียงเช่น เครื่องมือหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ พระพุทธรูป ใบเสมาหินทราย หนังสือบุด เหรียญกษาปณ์ เครื่องถ้วยจีนสมัยต่าง ๆ เครื่องถ้วยสังคโลก ไหสี่หู และเครื่องถ้วยยุโรป เป็นต้น
 
๔. แหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญา
พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม) ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กรูปแบบทรงไทยประยุกต์ออกแบบโดย สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดพัทลุง เป็นที่รวบรวม อนุรักษ์ และจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เสริมสร้างความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ แก่ผู้สนใจทั่วไป ทั้งยังเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบที่เอื้อประโยชน์ในเรื่องการเรียน การสอนในวิชาท้องถิ่นศึกษาให้สมบูรณ์และมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น
 
๕. กิจกรรมและการถ่ายทอดความรู้
นักเรียน นักศึกษา เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ที่มาวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว สามารถเข้าชมโบราณวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม) โดยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จะเป็นผู้นำเข้าชม และอธิบายความเป็นมาของโบราณวัตถุที่จัดแสดงในแต่ละรายการให้ได้รับรู้

๖. การเดินทาง
การเดินทางรถยนต์ จากศาลากลางจังหวัดพัทลุง เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราเมศวร์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางหลวงหมายเลข ๔ ประมาณ ๒๑ กิโลเมตร แยกซ้าย (บ้านท่านางพรหม) เข้าทางหลวงชนบทหมายเลข ๔๐๘๑ ถึงอำเภอเขาชัยสน ระยะทาง ๗ กิโลเมตร ผ่านหน้าอำเภอเขาชัยสน ถนนสายเขาชัยสน-จงเก ตรงไประยะทาง ๗ กิโลเมตร และแยกซ้ายไปทางทิศเหนืออีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึงวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว

๗. เอกสารอ้างอิง/บรรณานุกรม
    ๑. พิทยา บุษรารัตน์, การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุด เรื่อง ประวัตินางเลือดขาวและตำนานเมืองพัทลุง, (สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๕๑), ๓๑-๓๒.
    ๒. ชัยวุฒิ พิยะกูล, การศึกษาปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุด เรื่องเพลานางเลือดขาว, (สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๔๙), ๒๖-๒๘.
    ๓. กรมศิลปากร, วัดเขียนบางแก้ว(วัดตะเขียนบางแก้ว), เข้าถึงเมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๖๔, เข้าถึงได้จากhttp://gis.finearts.go.th/fineart
    ๔ .เพลงเมธา ขาวหนูนา, วัดเขียนบางแก้ว, เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓, เข้าถึงได้จาก https://sac.or.th/databases/archaeology/archaeology


รวบรวมโดย นางสาวเพ็ญศรี พินกลับ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
pic
pic
pic
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง และงานประสานขอพระราชทานเพลิง ตั้งอยู่ : ศาลากลางจังหวัดพัทลุง (หลังเก่า) ชั้น ๒
ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๙
 
กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตั้งอยู่ : วัดภูผาภิมุข ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๕๓๔๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๐๙๐๙
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม