สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง



องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> ประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว

วันที่ 23 ก.ย. 2564

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว

ความเป็นมา
วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง หลักฐานทางเอกสารประเภทตำนานเล่าประวัติวัดไว้ต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
ตำนานพื้นเมือง กล่าวว่า เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า "เพลาวัด” สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๒ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์
เพลานางเลือดขาว หรือบางท่านเรียกว่า เพลาเมืองสทิงพระ กล่าวว่า เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองพาราณสี ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นไว้ที่วัดสทัง วัดเขียนและวัดสทิงพระ ราว พ.ศ.๑๕๔๒ จึงเข้าใจว่าวัดเขียนบางแก้วน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์
ประวัติวัดเขียนบางแก้วของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่า เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองพัทลุงผู้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ.๑๙๘๒ (จ.ศ.๓๐๑) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุ
ทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะพัทลุง กล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๒
วัดเขียนบางแก้ว กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๔ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๖๕ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๙๗ ตารางวา และเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น "วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว”
จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ ๑๕-๑๘ แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
ภายในวัดได้พบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่นี้มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมาลายูอยู่เสมอ ๆ จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาผลาญบ้านเรือนราษฏรและวัดเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว เมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้ จึงบูรณะวัดขึ้นอีกและเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ.๒๑๐๙-๒๑๑๑ ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะ คือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับนางเป้า ชาวสทัง ตำบลหานโพธิ์
ครั้งที่ ๒ สมัยพระเพทราช พ.ศ.๒๒๔๒ ผู้นำในการบูรณะปฎิสังขรณ์ คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระพร ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่รวมทำการบูรณะ เว้นเสียส่วยอากรให้ทางราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน วัดเขียนบางแก้วมีชื่อเรียก เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาดังนี้
เมื่อมีการบูรณะวัดเขียนบางแก้วขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดตะเขียนบางแก้ว คำว่า ตะเขียน อาจเพี้ยนมาจากคำว่า ตะเคียน ก็ได้ มีบางท่านว่าอาจมาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่งอกงามอยู่บริเวณนี้คือ ต้นตะเคียน ผู้รู้ทางภาษาให้คำอธิบายว่า ตะเขียน แปลว่าแยกไป คือไม่รวมกับส่วนอื่น ๆ หรืออยู่ห่างไกล
ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกว่า วัดบางแก้ว หรือ วัดพระมหาธาตุบางแก้ว คำว่าบางแก้วมีที่มา ๒ นัย คือ อาจเรียกตามชื่อคลองบางแก้วที่ไหลผ่านวัดทางทิศใต้หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า คณะป่าแก้ว เพราะเพลาหนังสือวัดเขียนเก่า ๆ บางฉบับเรียกวัดนี้ว่า วัดคณะป่าแก้วหรือวัดคณะบางแก้ว ซึ่งในสมัยอยุธยาวัดนี้เป็นวัดของคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ขึ้นกับวัดใหญ่ชัยมงคล ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากภาษาถิ่นใต้นิยมตัดพยางค์ จึงเรียกสั้น ๆ เป็น วัดป่าแก้ว ต่อมาก็เพี้ยนเป็นวัดบางแก้ว
ตามหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองในสมัยอยุธยาเรียกวัดนี้ว่า วัดเขียน และมักเรียกรวมว่า วัดเขียนคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง จึงยิ่งเชื่อได้ว่า คำว่าบางแก้ว ควรจะมาจากคำว่า ป่าแก้ว แต่ในหนังสือเพลานางเลือดขาวให้ชื่อว่า วัดเขียนบางแก้ว ซึ่งต่อมาคำว่า บางแก้ว เป็นชื่อพ้องกับชื่อบ้านบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ ฉะนั้น เพื่อมิให้มีการหลงผิด จึงมีผู้เติมชื่อวัดว่า วัดเขียนบางแก้วใต้ เพื่อให้แตกต่างจากชื่อบ้าน แต่ปัจจุบันให้ชื่อว่า วัดเขียนบางแก้ว ตามหลักฐานในเพลานางเลือดขาว
พ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู เสด็จทอดพระเนตรวัดแห่งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ ๙ มิถุนายน ปรากฏความว่า
"...ได้ขึ้นดูวัดบางแก้ว เปนวัดชำรุดแล้วมาก มีโบสถ์อยู่หน้าหลังหนึ่ง หลังคาพังแล้ว เอาจากมุงพระไว้ โบสถ์ด้านหน้ามีมุข มีพระนั่งในมุขหน้า แต่เหลือแต่ไม้แกนปักอยู่ เปนพระนั่งองค์หนึ่ง มีแกนพระยืนอีก ๒ แกนพิงกำแพงอยู่ไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ไหน ทีจะเปนสาวก เฉลียงมุขหน้าเปนปอติโคทางเข้าโบสถ์ทั้งสองข้าง คิดว่าเสามุมหน้าเปนเสาลอย ด้านข้างเปนกำแพงแก้ว แต่เห็นไม่ได้พังเสียเหลือเตี้ยนิดเดียว แต่หน้ามุขเปนพนักแน่ยังอยู่เต็ม ในโบสถ์มีที่ทำสังฆกรรมสามหลัง ที่เรือนพระห้องหนึ่ง ผนังสองห้อง กลางก่อเปนช่องกรง สองห้องหัวท้ายเปนทึบ เสาเปนไม้บัวสลักในตัว หลังโบสถ์กั้นผนังเพียงดั้ง ระเบียงหลังมีพระนอน มีช่องเข้าได้แต่ทางหลัง ในโบสถ์มีพระนั่ง ๕ องค์ รอบโบสถ์มีเสมาหินเกลี้ยง ๘ อยู่บนฐานไม่มีซุ้ม หว่างเสมาข้างขวามีอิฐกองสี่เหลี่ยม ๒ กอง คิดว่าเจดีย์พัง ฤาที่ฝังกระดูกสมภาร มีกำแพงแก้วล้อมโบสถ์สามด้านเว้นหลัง ด้านข้างมีประตูซุ้ม ๑ ด้านหน้ามีประตูซุ้ม ๒ ซุ้ม พังแล้ว หลังโบสถ์มีพระมหาธาตุ รูปพระเจดีย์อินเดีย มีฐานมารแบกชั้นหนึ่งสิงห์ชั้นหนึ่งหน้ากระดานชั้นหนึ่ง ตั้งบนชั้นทักษิณ ฐานแปดเหลี่ยมองค์กลม ชั้นทักษิณแปดเหลี่ยม มีซุ้มพระสามด้าน ด้านหน้าเปนบันใดขึ้นทักษิณ ฐานล่างรองชั้นทักษิณเปนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ที่มุมมีพระเจดีย์ไม้สิบสองแทรกกันว่างที่เหลี่ยมย่อมุมละองค์ อย่างพระเจดีย์ไม้เรียวหวดฟ้าแต่ทรงอ้วน ฐานเปนสิงห์สามชั้น สไตล์ของพระธาตุนี้พิกล จะว่าเปนอะไรก็ยากอินเดียนิด ชวาหน่อย เจ๊กหน่อย ที่แท้มันเห็นสไตล์ไม่ได้ชัด เพราะพังแลถูกซ่อมบ้าง ดูองค์พระธาตุเปนอินเดีย ดูซุ้มพระเปนทีอย่างยอดซุ้มโบโรโบโดที่ชวา มีพระเจดีย์เหลี่ยมเปนยอดทิศ ยอดแทรก ยอดใหญ่ ทรงคฤห์เปนทีหลังคาจีน แต่ว่าแน่ไม่ได้ เพราะมันเปนรอยพังๆซ่อมๆ ปลายลวดปัดงอนทีลาวนั้นแน่เปนของเก่า จะดูลายสอบก็ไม่สู้เห็น เพราะใช้ประดับถ้วยจานเสียมาก มีแต่ภาพคือ มารแบกที่รับระฆัง กับเทวดาที่พนังเชิงบันใดก็ทำนองสุโขทัย แลยังมีหัวยักษ์หัวช้างกลิ้งๆอยู่อีกไม่รู้ว่าเดิมอยู่ที่ไหน แต่ฝีมือไม่แข็งทั้งสิ้น พระที่อยู่ในซุ้มหน้าทีคล้ายยายหอม ที่นครปฐมตกลงให้เปนสไตล์แหลมมลายู รอบพระธาตุมีพระระเบียงล้อม พังแล้ว เวลานี้มีคนไปซ่อม ทำเสาไม้มุงกระเบื้อง ข้างกำแพงแก้วโบสถ์มีพระเจดีย์ใหญ่ฐานคูหาอีกข้างละองค์พังแล้วพอเห็นได้แต่เค้า กำนัลว่ามีตำนานว่าเจ้าเลือดขาวสร้าง มีเมืองอยู่ต่อไปบนดอนทางเหนือ มีวัดมีพระพุทธรูปทำด้วยศิลาเรียกวัดกุลา จึงให้เขาพาไปดู ทางไม่สู้ไกลนัก มีโคกสองโคก คงเปนโบสถ์หรือวิหาร อยู่ไม่สู้ห่างกัน จะเปนวัดเดียวกันฤาคนละวัดไม่ทราบแน่ บนโคกมีพระศิลาทรายแดง หักกองเกะกะอยู่หลายองค์ องค์หนึ่งที่เปนใหญ่ที่สุดดวงพระพักตร์สูงประมาณศอกคืบ ทีไม่ไปทางนครไชยศรี กเดียดไปข้างกรุงเก่า ออกจากวัดไปดูเมือง เขาบอกว่าตรงนี้แลเมือง ข้าพเจ้าสังเกตตามดู เห็นไม่มีปรูฟอื่นนอกจากมีถ้วยชามโอ่งไหแตกซึ่งเปนทรากบ้านคน พอเชื่อได้ว่าเปนเมืองจริง จึงเห็นว่าเมืองพัทลุงเดิมคงเปนที่นี้ เพราะมีทรากสิวิไลย...”
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๘ เวลา ๑๖.๑๐ น. เกิดเหตุฟ้าผ่าบริเวณปล้องไฉนขององค์พระบรมธาตุ มีผลให้ผิวปูนเกิดการกะเทาะ เครื่องถ้วยชามที่ประดับองค์เจดีย์หลุดร่วง หยาดน้ำค้างทองคำส่วนปลายสุดบนยอดเจดีย์ ซึ่งทางวัดเพิ่งทำขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ หลุดร่วงลงมา ทางวัดจึงได้นำเอาวัตถุมีค่าที่ชำรุดหลุดร่วงนั้นไปรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาชัยสน
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑ มีคนร้ายปีนขึ้นมาบริเวณลานประทักษิณด้านทิศตะวันตกและใช้ไม้ไผ่ผูก เป็นพะองติดกับองค์เจดีย์ ตั้งแต่บริเวณคอระฆังไปถึงส่วนปลียอด โดยใช้โคนไม้ไผ่ค้ำยันกับกำแพงของลานประทักษิณ คนร้ายได้ทำการโจรกรรมแผ่นทองคำหุ้มปลียอดไปจนเกือบหมด เหลือแต่พานหุ้มทองคำ และดอกบัวทองคำ ๕ ดอก จากการสอบสวนพบว่าทองที่ถูกลอกไปมีน้ำหนักทั้งสิ้น ๙๐ บาท เหลืออยู่ ๗ บาท ๒ สลึง คนร้ายหลบหนีไปได้ ส่วนพระและชาวบ้านมารู้ในเวลาเช้าขณะที่พระกำลังจะออกบิณฑบาต ราว ๖.๓๐ น. เนื่องจากสามเณรไปพบร่องรอยผิดปกติ
 
ความสำคัญ
วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว มีสิ่งสำคัญ ดังนี้
๑. พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐ ฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว ๑๖.๕๐ เมตร สูงถึงยอด ๒๒ เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานมีซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน ๓ ซุ้ม แต่ละซุ้มกว้าง ๑.๒๘ เมตร สูง ๑.๖๓ เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๔ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปะจีน ด้านตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้งสองข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำ ถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับด้วยเครื่องถ้วยชาม ทั้งสี่มุมของบัลลังก์ก็มีรูปกาปูนปั้นมุมละ ๑ ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง ๔ (พระมหาพันธ์ ธมฺมนาโก สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕) ส่วนยอดเป็นพานขนาดเล็ก ๑ ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน ๕ ดอก ๔ ใบ (ทองคำถูกขโมยไป เมื่อวันที่ ๗ กรกฏาคม ๒๕๒๑) ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
๒. วิหารคด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ล้อมรอบพระธาตุ ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับอุโบสถ ภายในวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือชาวพื้นบ้าน จำนวน ๓๔ องค์ ชาวบ้านเรียกว่า พระเวียน
๓. อุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกขนานกับคลองบางแก้ว พระอธิการพุ่มได้บูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมาก จึงมีการบูรณะใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ๒ ทาง ด้านหลัง ๑ ทาง ภายในมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ทาพระโอษฐ์สีแดง จีวรสีเหลือง ด้านหลังพระประธานก่อผนังเป็นห้อง ประดิษฐานพระไสยาสน์ปูนปั้น ๑ องค์ ยาว ๗.๕๐ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร หนา ๙๐ เซนติเมตร ทาพระโอษฐ์สีแดง หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อุโบสถได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔
๔. ใบเสมาหินทรายแดง ตั้งอยู่โดยรอบอุโบสถ จำนวน ๘ ใบ เป็นเสมาเกลี้ยงไม่มีลวดลาย ยกเว้นใบที่อยู่ด้านหลังอุโบสถ มีลวดลายปูนปั้นที่อกเสมาเป็นรูปทรงพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ เข้าใจว่าเป็นการซ่อมภายหลัง เสมาเหล่านี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
๕. ซากหอระฆัง ตั้งอยู่ด้านหน้าธรรมศาลา ปัจจุบันหักเหลือแต่ฐาน เดิมตอนบนเป็นเสาไม้สี่เสา หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้อง คอสองประดับแผงไม้ฉลุลาย
๖. ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ด้านหน้าซากหอระฆัง พระภิกษุคงเป็นผู้สร้างขึ้นบนซากเก่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔-๒๔๕๕ เพื่อใช้ทำบุญบำเพ็ญศพของพระอธิการพุ่ม มีขนาด ๓ ห้อง เสาไม้ตำเสา มีเฉลียงรอบหลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมีธรรมมาสน์จำหลักไม้สวยงาม ปัจจุบันบูรณะใหม่แล้ว
๗. พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปแบบไทยประยุกต์ออกแบบโดย กรมศิลปากร ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบบริเวณวัดเขียนบางแก้ว โคกเมืองและบริเวณใกล้เคียง
๘. พระพุทธรูปสำริด ปางอุ้มบาตร ศิลปะสมัยอยุธยา อยู่บนกุฏิเจ้าอาวาส ชาวบ้านเรียกว่า "แม่ทวด” มีตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อฉลองแทนองค์ "สมเด็จเจ้าแม่อยู่หัวเมือง” บางตำนานว่าหมายถึงนางเลือดขาว บางตำนานว่าหมายถึง "แม่ศรีมาลา”
๙. โบสถ์พราหมณ์ (โคกแขกชี) ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระมหาธาตุเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดแขกชี บริเวณโบสถ์พราหมณ์ มีซากฐานเสาหินทรายสีแดงรูปทรงกลมเจาะรู ด้านในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๑ ชิ้น ชิ้นส่วนฐานโยนิหินทรายสีแดง ๑ ชิ้น ศิวลึงค์ชำรุด จำหลักจากหินทรายแดง ๑ ชิ้น
๑๐. วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (โคกวิหาร) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบันเหลือเพียงซากเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐและหิน ตอนบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำหลักจากหินทรายแดง ศิลปะสมัยอยุธยา จำนวน ๓ องค์ พระเศียรพระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดใหญ่ ๑ เศียร
๑๑. พระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ์ (โคกพระคุลา) ชาวบ้านเรียกว่าพระคุลา ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ประมาณ ๕๐ เมตร พระคุลาเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัยศิลปะอยุธยาตอนต้น เดิมชำรุดหักเป็นชิ้น เหลือเพียงพระเศียรเท่านั้นที่สมบูรณ์ วัดโดยรอบได้ ๑.๓๐ เมตร สูง ๑ เมตรเศษ ต่อมาพระมหาพันธ์ ธมฺมนาโก เจ้าอาวาสได้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕
๑๒. พระพุทธรูปสองพี่น้อง ประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระคุลา ประมาณ ๒๐๐ เมตร เดิมเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดงแตกหัก จำนวน ๒ องค์ เหลือแต่พระเศียร ต่อมาพระมหาพันธ์ ธมฺมนาโก เจ้าอาวาสได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ เสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓
๑๓. โคกเมือง เป็นแหล่งชุมชนอีกแหล่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนสันทรายริมทะเลหลวงห่างจากวัดตะเขียนบางแก้วไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร ลักษณะเป็นเนินหรือโคกทรายสูง ปัจจุบันถูกไถปรับเพื่อทำการเกษตร ของราษฏร พื้นที่ทั่วไปเป็นเนินทราย บนผิวดินมีเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก อาทิเครื่องสมัยจากแหล่งเตาสุโขทัย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยพื้นเมือง ด้านทิศตะวันตกของโคกเมืองเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสองพี่น้อง
จากความสำคัญดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ชมรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ได้กำหนดจัดงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว ณ วัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และได้มีการจัดติดต่อกันมาเป็นประจำ ทุกปี มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วมจัดกิจกรรม ก่อให้เกิดความรักสามัคคี อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จังหวัดพัทลุงจึงมีความตระหนักในความสำคัญชองการจัดงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว จึงได้ยกระดับการจัดงานดังกล่าวเป็นงานประเพณีของจังหวัด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จังหวัดพัทลุงได้ขอพระราชทานผ้าห่มพระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนาดกว้าง ๙๐ เซนติเมตร ยาว ๑๙ เมตร ๙๙ เซนติเมตร
ประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมีลักษณะถอดแบบมาจากนครศรีธรรมราช นั่นคือ ผ้าที่นำขึ้นมาใช้แห่ เรียกกันว่า "ผ้าพระบฏ" เป็นหนึ่งในเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าของชาวพุทธทั่วโลก ตั้งแต่สมัยพุทธกาลในอินเดีย ที่มีตำนานการเขียนภาพว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทูลขอพระพุทธฉายจากพระพุทธเจ้าเพื่อสักการบูชาแทนพระองค์ และพระพุทธองค์ได้ประทานพระพุทธฉายประทับบนผืนผ้าผืนหนึ่งพร้อมการระบายด้วย สีต่างๆ ให้ จนสืบต่อการทำภาพบนผืนผ้าอย่างกว้างขวางถึงประเทศทิเบต จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ยังนิยมการเขียนภาพพระพุทธเจ้าและอื่นๆ บนผืนผ้า เฉพาะในทิเบตทุกวันนี้ ผ้าพระบฏที่เรียกว่า "ถังกา (Thangkha)" ได้แพร่หลายไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะภาพกาลจักร หรือปฏิจจสมุปบาท แสดงถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้และสั่งสอน

พิธีกรรม
ประเพณีแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จะต้องมีการเตรียมการต่าง ๆ ดังนี้
๑. การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่นำขึ้นห่มพระธาตุ มักจะนิยมใช้สีเหลือง หน่วยงานองค์กรพุทธศาสนิกชนคนใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน หากใครต้องการทำบุญร่วมด้วยก็จะบริจาคเงินสมทบ แต่ผ้าห่มพระธาตุผืนพิเศษ จะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาว โดยสถานศึกษาในจังหวัดพัทลุง
๒. การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ และการถวายผ้า ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ มาจากหลายทิศทางแต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง และมักจะมีกลองยาวนำหน้าขบวน ซึ่งบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เดินสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะยืนแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏและผ้าห่มพระธาตุไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้า จึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาด วิธีการถวายผ้าพระบฏ เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วแล้ว จะทำพิธีถวายผ้าพระบฏเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีประธานกล่าวนำผู้ร่วมขบวนว่าตามพร้อมกัน
๓. การนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ หลังจากทุกคนกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้ว จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง
การได้แห่ผ้าบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการได้ห่มผ้ารอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เปรียบกับได้การบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะได้กุศลแรงตายไปจะได้เกิดเป็นนางฟ้าหรือเทวดา
กิจกรรมตามประเพณี
ประเพณีแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑. พิธีกวนข้าวมธุปายาส
๒. พิธีสมโภชผ้าห่มพระบรมธาตุฯ
๓. พิธีแห่ผ้าและห่มผ้าพระบรมธาตุฯ

เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (๒๕๖๐). แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล.กรุงเทพ ฯ :
สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (๒๕๖๒). มรดกวัฒนธรรมภาคใต้. กรุงเทพ ฯ : สถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
- จันทรา ทองสมัคร. ประเพณีท้องถิ่นนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช. ๒๕๔๐

รวบรวมโดย นางจำเป็น เรืองหิรัญ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
pic
pic
pic
pic
pic
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง และงานประสานขอพระราชทานเพลิง ตั้งอยู่ : ศาลากลางจังหวัดพัทลุง (หลังเก่า) ชั้น ๒
ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๗๙๕๙
 
กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตั้งอยู่ : วัดภูผาภิมุข ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ๙๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๑๕๓๔๘ โทรสาร ๐๗๔ ๖๑๐๙๐๙
สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม