แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว >> สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วัดดอยข่อยเขาแก้ว

วันที่ 10 ก.พ. 2565
 

     

       วัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือ วัดพระเจ้าตาก ตั้งอยู่บนเนินเขา ขนาด ๑๐๐x๖๐๐ สูง๒๐ เมตร ทางทิศใต้ของห้วยแม่ท้อและอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง วัดนี้ตั้งห่างจากแม่น้ำปิง ประมาณ ๒๕๐ เมตร อยู่ในเขต ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ปัจจุบันไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่มีพระธุดงค์แวะพักปักกรด ณ บริเวณสถานที่แห่งนี้ไม่ขาด ซึ่งนับว่าเป็นมงคลธรรมแก่สถานที่อย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว

      ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔-๒๕๔๗ มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากฯ และ จังหวัดตาก พร้อมด้วย กรมศิลปากร ได้ร่วมกันขุดค้น และบูรณะโบราณสถานภายในบริเวณวัดแห่งนี้ จากการศึกษาพบว่าบริเวณดังกล่าว มีการตั้งรกรากถิ่นฐาน และสร้างอาคารศาสนสถาน สมัยที่ ๑ ในระหว่าง ๑๕๐๐-๒๐๐๐ ปีมาแล้ว กลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือโลหะได้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณ ดอยข่อยเขาแก้ว อาศัยที่ราบลุ่มทำการเกษตรกรรมเพาะปลูก และหาสัตว์น้ำ มีการตั้งบ้านเรือนบนเนินเขา เพื่อป้องกันน้ำหลากในฤดูฝน ชุมชนนี้มีเทคโนโลยีในการปั้นเครื่องปั้นดินเผาและการหล่อสำริด เหล็กเพื่อใช้งาน ได้พบหลักฐานประเภทหม้อ พาน เครื่องใช้ในหลุมศพด้วย ซึ่งมีการทุบแตกวางข้างศรีษะซึ่งหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๒๐ องศา การขุดค้นบริเวณวิหาร หรือ พลับพลา พบโครงกระดูกจำนวน ๒โครง มีสภาพไม่สมบูรณ์ และยังค้นพบกระโหลก และหอกสำริด จากสภาพที่พบ สันนิษฐานว่าอาจจะถูกรบกวนจากการสร้างอาคาร ใน สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยที่ ๒ กลุ่มชนสมัยอยุธยา เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จากหลักฐานในพระราชพงศวดาร กล่าวว่าในสมัยของ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พุทธศักราช ๒๐๙๑-๒๑๑๑) พระเจ้าหงสาวดี ได้ให้ พระเจ้าเชียงใหม่ ต่อเรือรบไว้ที่ ตำบลระแหง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดตาก) จึงเป็นชุมชนตั้งแต่ครั้ง กรุงศรีอยุธยา เข้าตี หัวเมืองเชียงใหม่

      วัดดอยข่อยเขาแก้ว มีความเกี่ยวเนื่องกับองค์พระมหากษัตริย์ชาตินักรบ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช อะไร? อย่างไรบ้าง? ก่อนจะลงลึกในรายละเอียด ต้องเกริ่นให้ทราบเป็นเบื้องต้น สถานที่แห่งนี้ มีความผูกพัน มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ถึง ๒ วาระสำคัญด้วยกัน ซึ่งจะนำเสนอประวัติศาสตร์ให้ทราบในรายละเอียดต่อไป วาระแรก ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ ขณะ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ดำรงตำแหน่ง พระยาตาก (เจ้าเมืองตาก) วันหนึ่ง ได้ไปบำเพ็ญทานกาลกุศลที่ วัดดอยข่อยเขาแก้วเมืองตากในวันนั้นมีชาวบ้านชาวเมืองมาประชุมกันเป็นจำนวนมากด้วยปรารถนาชื่นชมบารมีเจ้าเมือง คนใหม่ผู้นี้มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่ราษฎร หลังจาก พระยาตาก (สิน)บำเพ็ญกุศลแด่พระภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ดินไปหยิบไม้เคาะ ระฆังขึ้นมาถือไว้ แล้วตั้งคำสัตย์อธิษฐานขึ้นในใจว่าถ้าข้าพเจ้า มีบุญญาบารมี มากพอที่จะเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ได้อย่าง เที่ยงแท้แน่นอน ขอให้ไม้ระฆังที่ขว้างไปนี้ จงผ่าแก้วขาดกลาง โดยที่ถ้วยแก้วที่ขาด สองท่อนนี้ไม่แตก จะนำแก้วที่ขาดสองท่อนนี้ไปทำเป็นเจดีย์ บรรจุพระสารีริกธาตุ จากนั้น พระยาตาก ก็เหวี่ยงไม้ตีระฆังไปหาแก้วน้ำที่วางอยู่เบื้องหน้า ซึ่งห่างออกไป ๑๐ ศอก ( ๕ เมตร) ท่ามกลางสายตาของพระภิกษุสงฆ์ และศาสนิกล้นศาลา สายตาทุกคู่จับจ้อง พระยาตาก (สิน) อย่างไม่ลดละ ไม้เคาะระฆังพุ่งเข้าตัดแก้วใบนั้นขาดออกจากกัน โดยไม่มีการแตกสลายเลยแม้แต่น้อยนับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนทั้งหลาย ซึ่งได้มาอยู่ ณ ศาลาโรงธรรม ในเวลานั้น พลังจิตอันแน่วแน่ของ พระยาตาก (สิน) เป็นไปตามคำอธิษฐานทุกประการ แต่กาลข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ชาวเมืองตาก ไม่อาจจะล่วงรู้ได้ ภายหลังจากการเสี่ยงทายแล้ว พระองค์ได้ให้ช่างนำลูกแก้วไปติดไว้ที่ ยอดพระเจดีย์ วัดดอยข่อยเขาแก้ว ๑ ลูก และอีก ๑ ลูก ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ขออนุญาตนำไปติดไว้ที่ ยอดพระเจดีย์ วัดกลางสวนดอกไม้ เวลาผ่านไปหลายปี ลูกแก้วที่ติดยอดพระเจดีย์ทั้งสองแห่ง ได้หลุดหายไป เนื่องจากยอดพระเจดีย์ได้หักพังลง วาระที่ ๒ ในปีพุทธศักราช๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช (ครองราชย์พุทธศักราช๒๓๑๑-๒๓๒๕) พระองค์ทรงเสด็จยกทัพไปตี เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จกลับจาก เมืองเชียงใหม่ ได้ทรงแวะประทับ ณ ตำหนักสวนมะม่วง บ้านระแหง ได้พระราชทาน ปืนคาบศิลา จำนวน ๑๐๐ กระบอก ให้กับ ชาวบ้านระแหง ไว้เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู และได้เสด็จไปนมัสการพระปฏิมากร ณ วัดดอยข่อยเขาแก้ว พระองค์ตรัสประภาสถามพระสงฆ์รูปหนึ่ง ถึงครั้งที่พระองค์ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายที่วัดแห่งนี้ว่า จำพระองค์ได้หรือไม่ พระสงฆ์ตอบว่า จำพระองค์ได้ดี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ ดังนี้ ๑.พระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบ ศิลปะอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ขนาด ๗.๒๗x๑๓.๕x๓.๓๐ เมตร มีลานประทักษิณ และกำแพงแก้วล้อมรอบ ฐานก่ออิฐของวิหาร ๒. พลับพลา ที่ประทับพลับพลาสำหรับข้าราชการตามเสด็จ ๓. พระเจดีย์ราย พระเจดีย์ราย ๓ องค์ ๔. ศาลเสด็จแม่นกเอี้ยง และ ศาลเสด็จพ่อไหฮอง เป็นศาลที่ตั้งขึ้น เพื่อบูชาพระราชมารดาและพระราชบิดาใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ๕. บ่อหมักปูนโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าใช้หมักปูนเพื่อทำปูนปั้นประดับพระอุโบสถและวิหาร วัดดอยข่อยเขาแก้ว ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘


แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก เลขที่ ๓  ถนนกิตติขจร ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ๖๓๐๐๐ โทรศัพท์ - โทรสาร : ๐๕๕-๕๑๗๗๒๒

สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม