กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ o๒/o๔/๒๕๖๑

ชุดความรู้ เรื่องที่ ๑ ที่สุดแห่งงานศิลป์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ


ชุดความรู้ เรื่องที่ ๑ ที่สุดแห่งงานศิลป์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
สื่อความหมาย เพื่อรำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงเป็นดั่งดวงใจประชาชน
         แม้ว่า จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้า จากการจากไปของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย งานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือที่สุดของการรวบรวมงานศิลป์ไทย มรดกของชาติ ซึ่งจะต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานไม่ว่าผู้สร้างสรรค์หรือผู้ชมงาน ถือได้ว่า มีส่วนร่วมที่อยู่ในยุคสมัยของศิลปะของชาติที่แสดงออกอย่างเต็มภาคภูมิ ตลอดระยะเวลา 9 เดือนเต็ม ด้วยพลังแห่งความจงรัก ภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ปวงชนชาวไทยทั่วหล้า ได้หลอมรวมใจเป็นหนึ่ง ในการก่อสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ความวิจิตรบรรจงแห่งการรังสรรค์พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ประกายสีทองอร่าม และอาคารประกอบ ซึ่งก็รวมถึง ประติมากรรม จากศิลปินอาชีพ เพื่อสร้าง สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย รูปแบบกรุงรัตนโกสินทร์ ผสมผสานกับศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9
 
คลื่นมหาชน กว่า 4 ล้านคน ได้เข้าถึงงานศิลป์ครั้งสำคัญ
          นับจากวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ไปจนถึงสิ้นปี 2560 60 วันของการเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศ เข้าชมนิทรรศการและพระเมรุมาศ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้วางแผน สร้างสรรค์งานครั้งสำคัญของชาติ ที่รวมงานศิลป์ จากศิลปินระดับชั้นนำ ไม่ว่างานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมและการแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อเทิดทูนและถวายพระเกียรติยศ ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงเป็นดั่ง "พ่อของแผ่นดิน "งานศิลป์ ที่รังสรรค์ในพระราชพิธีครั้งนี้ สมกับที่เป็นขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่คนไทยควรได้ชมและศึกษา 4 ล้านคน ผู้เข้าชมนิทรรศการและพระเมรุมาศ ได้สัมผัสงานศิลป์ มีทั้งประชาชน นักเรียนนักศึกษา ผู้พิการ สื่อมวลในและต่างประเทศ รวมถึง 2 พันคน และนักท่องเที่ยวจาก 96 ประเทศ รวมกว่า 6 หมื่นคน
 
ความยิ่งใหญ่ของงานประติมากรรม
           ผลงานประติมากรรมเป็นอีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จุดเด่นของงานปั้นครั้งนี้ รูปลักษณ์ขององค์ประกอบประติมากรรม มีความสมจริงของยุคสมัยมากขึ้น เหมือนประติมากรรมเหล่านี้มีชีวิตชีวา บ่งบอกถึงอารมณ์ เหมือนจะออกมาโลดแล่นได้ และงานประติมากรรมครั้งนี้ ล้วนสื่อความหมาย เพื่อเทิดพระเกียรติ ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวถึงรูปแบบของงานปั้นในงานพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า "ประติมากรรมครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เทวดา ซึ่งประกอบด้วย มหาเทพ เทวดานั่ง เทวดายืน ท้าวจตุโลกบาล 4 มีความคล้ายคลึงมนุษย์มากขึ้นทั้งหน้าตา สรีระที่มีกล้ามเนื้อ สัตว์มงคล ช้าง ม้า โค สิงห์ ครุฑเสา เป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 คือมีความร่วมสมัย”
 
งานศิลปะแห่งแผ่นดินแฝงไว้ด้วยความหมายทรงคุณค่า
          ชิ้นงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือภาพจิตรกรรมงานศิลปะชั้นสูง ฉากบังเพลิง ซึ่งในครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่ผ่านมาการเรียนรู้ลายผ้าไทยจากผ้านุ่งของชุมนุมเทวดาต่างๆ จากฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศ สะท้อนลวดลายจาก งานศิลปาชีพ ซึ่งได้รับการฟื้นฟูโดยโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เข้ามาแทรกในรายละเอียดของพัสตราภรณ์ของเหล่าเทวดานางฟ้า เท่ากับเป็นการหลอมรวมพระราชกรณียกิจของแม่ในแผ่นดิน ผสานรวมไว้ในงานพระราชพิธีเคียงคู่พระจิตกาธาน พระที่นั่งทรงธรรม มีการจัดนิทรรศการเรื่อง "พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” แสดงเรื่องราว พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยแบ่งเป็น 5 ตอนที่ต่อเนื่องกัน ได้แก่ 1. เมื่อเสด็จอวตาร 2. รัชกาลที่ร่มเย็น 3. เพ็ญพระราชธรรม 4. นำพระราชไมตรีและ 5.พระจักรีนิวัตฟ้า ที่นานาประเทศน้อมเกล้าฯ ถวาย ในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา และการประมวลความคิด ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยต่อการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
 
นิทรรศการภายในศาลาศาลาลูกขุน
          แสดงการจัดสร้างพระเมรุมาศสิ่งปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดแสดงภายในศาลาลูกขุนทั้ง ๖ หลัง แสดงถึงเรื่องราวการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศในทุก ๆ ส่วน แสดงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรมและจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำเครื่องสังเค็ด และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งการเตรียมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธี

การแสดงโขน ฝากไว้ในแผ่นดิน
          การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ในตอน "พระรามข้ามสมุทร ยกรบ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ"จัดแสดงโดย สำนักสังคีต กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้ประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการได้ผ่อนคลาย โดยมีผู้เข้าชม จำนวนมาก โขนชุดนี้ ได้ประพันธ์บทขึ้นใหม่ โดยนายเกษม ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป ในทำนองเพลง ระบำอู่ทอง ของนายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ที่ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาใหม่ การแสดงโขน ชุดนี้ เป็นการแสดงโขนแสดงกลางแจ้ง บนพื้นดิน หรือกลางสนามหญ้า สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงโขนประเภทแรก จัดแสดงตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ทราบต้นกำเนิดแน่ชัด ภาษาชาวบ้าน อาจเรียกว่า โขนหน้าไฟ โดยใช้ผู้ร่วมแสดงทั้งสิ้น 300 คน
          การแสดงโขน ตอน "พระรามข้ามสมุทร ยกรบ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ” เป็นการแสดงตอนหนึ่งที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มดำเนินเรื่องเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ พระรามยกไพร่พลวานร ข้ามมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล เพื่อต้องการทำสงครามกับทศกัณฐ์ ทั้งสองฝ่ายเมื่อทำศึกสงครามกัน ต่างมีไพร่พลทหารเป็นกำลังจำนวนมาก เมื่อฝ่ายอสูรพ่ายแพ้ พระอินทร์ เหล่าเทวดานางฟ้าจำนวนมากต่างพากันจับระบำรำฟ้อนถวายสดุดี แซ่ซ้องสรรเสริญถวายพระพรชัยแก่องค์สมเด็จพระรามที่ทรงชนะเหล่าปวงอสูรมารร้าย ทำให้ทั้งสามภพธำรงอยู่ด้วยความสุขสงบร่มเย็น ด้วยพระมหาบารมี เสมือนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ ทรงฟันฝ่าอุปสรรค โดยเฉพาะความยากลำบากของประชาชนชาวไทย ให้มีความสุขสงบร่มเย็นมาอย่างยาวนาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรแม้จะผ่านไปในสิ้นปี 2560 แต่หลายคนยังคงเก็บไว้ในความทรงจำของช่วงชีวิตหนึ่ง
          "ไม่เคยรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ จนได้มาเห็นจริงๆ ที่นี้ ซึ่งผมเรียนสถาปัตย์ การที่ได้เข้ามาเห็นงานจริงๆ เห็นความสวยงามที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จริงๆ มันเป็นเหมือนประสบการณ์อันล้ำค่าของผมครับ ..ตรงนี้เป็นที่สุดของประเทศเท่าที่เคยเห็นมา” สิรวิชญ์ เพียรพิทักษ์
          "ครั้งหนึ่งในชีวิตครับ รู้สึกตื้นตันใจที่ครั้งหนึ่งได้เกิดมาในรัชกาลที่ ๙ ก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ท่านได้ทรงเสียสละทุกอย่างทำให้คนไทยได้มีทุกวันนี้ครับ สวยงามมาก ทุกมุม ทุกสิ่งทุกอย่างทำด้วยความปราณีตสวยงามมาก หากมีการรื้อถอนไปจะอยู่ในความทรงจำ เป็นความประทับใจ” ประเสริฐสิทธิ์ อมรไตรภพ
          "ทุกครั้งที่มาชมจะประทับใจมาก บางครั้งน้ำตาจะไหล นิทรรศการฯ ครั้งนี้มีประโยชน์มากได้ถ่ายทอดสถาปัตยกรรมสู่สายตาของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งต่างประเทศประทับใจและได้เห็น ได้ความรู้แต่ละเรื่องๆ ไปด้วย” พิสมัย แพ่งนุเคราะห์
         สำหรับการรื้อถอนพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ มีการรื้อถอนอาคารประกอบพระเมรุมาศ ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม ทิม ทับเกษตร ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
          ส่วนวัสดุถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ ได้แก่ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทร์ ฉากบังเพลิง และพระจิตกาธาน นำไปเก็บรักษาและจัดแสดง ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
          งานประติมากรรม ศิลปกรรม ประดับพระเมรุมาศและภาพจิตรกรรม โครงการตามพระราชดำริ ณ พระที่นั่งทรงธรรม เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษา ณ สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดแสดงในอนาคต
          นิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งแสดง ณ พระที่นั่งทรงธรรมระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐นำไปจัดเป็นนิทรรศการถาวร ณ ห้องโถงพระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท โรงพยาบาลพระมงกุฎ เรื่อง "พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในโครงการตามพระราชดำริ ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เป็นต้นมา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ อันไพศาลแห่งพระผู้สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ตราบนานเท่านาน 
 
www.m-culture.go.th สายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕




แชร์


Facebook share Twitter share LINE share