กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ ๒๖/o๗/๒๕๖๕

ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว


ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว หมู่ที่ 14 ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

๑. การบริหารจัดการชุมชน

๑.๑ ผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีหลักธรรมาภิบาล
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มี นายดาว หอมหวล เป็นผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นผู้นำชุมชนที่เป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาและขับเคลื่อนสู่การบริหารจัดการชุมชนที่ดี มีการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหลักคุณธรรมนำสู่การประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ดีงามให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการประเมินเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบของจังหวัดในทุกๆ ปี และผู้นำชุมชนยังให้ความสำคัญในการนำหลักมุ่งเน้นฉันทามติ หลักการ มีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความเสมอภาค มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการ การพัฒนา การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การร่วมประกวดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2561 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 ชุมชนของประเทศไทย และ เป็น ๑ ใน ๔ ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกของจังหวัดสุรินทร์

๑.๒ ผู้นำชุมชนมีความรู้ มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน
ผู้นำชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว ประกอบไปด้วย นายดาว หอมหวล (ผู้ใหญ่บ้าน) พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง ซึ่งวัดป่าอาเจียงเป็นพุทธสถานที่สำคัญในเชิงการท่องเที่ยวของชุมชน และมีนายจักรพงษ์ เจริญพร ผู้อำนวยการโรงเรียนช้างบุญวิทยา ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนในรูปแบบ 3 ประสาน บ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) โดยมีการนำความรู้ด้านบริบททั่วไปของชุมชน (ประวัติความเป็นมา ลักษณะทางกายภาพ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนฯลฯ) บริบทของกลุ่มชาติพันธ์กูย วิถีกูยอาเจียง (คนเลี้ยงช้าง) ทรัพยากรในชุมชน เช่น ศิลปวัฒนธรรม ปราชญ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

๑.๓ ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในชุมชน โดยมีพระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร
เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง เป็นศูนย์รวมจิตใจ โดยคนในชุมชน และโรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสืบสานประเพณีวันช้างไทย โดยมีการสื่อสารจากผู้ใหญ่บ้านหนองบัว สร้างความเข้าใจให้สมาชิกในชุมชน มีการสื่อสารอย่างทั่วถึง และมีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินกิจกรรม ก่อให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายกิจกรรมที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินงานของชุมชน เช่น การดำเนินกิจกรรม "คชสารชาวกูย /กวยอาเจียง" กระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ด้วยความร่วมมือของวัด ชุมชน และโรงเรียน ที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร (วัด บ้าน โรงเรียน) โรงเรียนได้พัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เกิดการสำนึกรักบ้านเกิด

๑.๔ สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีการประชุมก่อนการดำเนินงาน สมาชิกในชุมชนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา ลองผิดลองถูกในชุมชนกันเอง มีการดำเนินการวางแผนร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา มีการปฏิบัติตามแนวทางที่ร่วมกันคิดในชุมชนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หลังจากปฏิบัติแล้วชุมชนนำสิ่งที่ได้หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมาพูดคุยกันและ
มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชุมชน เป็นธรรมนูญชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว นอกจากนี้เด็ก เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยได้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในทุก ๆ กิจกรรมของชุมชน เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์น้อย กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น

๑.๕ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยว ภายใต้ความต้องการของคนในชุมชน เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ส่งเสริมพัฒนาแผนที่ท่องเที่ยว จุดเช็คอิน พัฒนาผลิตภัณฑ์ CPOT ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร ได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว/บ้านพักโฮมสเตย์ กรมพัฒนาชุมชน มอบเงินรางวัลจากการประกวดชุมชน OTOP นวัติวิถีต้นแบบ เป็น 1 ใน 50 จังหวัดของประเทศไทย รางวัลโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็น 1 ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย และกองทุนต่าง ๆ ที่มีในชุมชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ได้มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชนผ่านสื่อต่าง ๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ สนับสนุนบุคลากรให้ความรู้ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากช่างภาพอิสระต่าง ๆ มาร่วมถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ชุมชน

๑.๖ ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) เพื่อไม่ให้ชุมชนตื่นตระหนก และรู้วิธีในการป้องกัน การเฝ้าระวัง โดยชุมชนมีการแบ่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลแต่ละครัวเรือน รวมถึงดูแลบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้คนในชุมชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันโดยคนในชุมชนที่ไม่ได้รับผลกระทบ นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่บุคคลที่ได้รับเชื้อ ฯ หรือกลุ่มเสี่ยงที่กักตัว



๒. อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น

๒.๑ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง "กูย” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ คือ มีความชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงช้างเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนกับช้าง จนกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีกูยอาเจียง (คนเลี้ยงช้าง) โดยสืบทอดต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน จนทำให้ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัวเป็นที่รู้จักและได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและมากที่สุดในโลก ประการสำคัญ คือ วิถีของกลุ่มชาติพันธุ์กูยนั้นได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและอารยธรรมที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ อันได้แก่ คชศาสตร์ชาวกูยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นอกจากนี้มีการรวมกลุ่มชาติพันธุ์กูย ซึ่งในวันที่ ๑๓ มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันกูยโลก และโดยธรรมชาติของประชาชนในชุมชนแห่งนี้เป็นผู้ที่มีน้ำใจ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อีกทั้งมีศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง

๒.๒ ภาษา
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีภาษาท้องถิ่น คือ ภาษากูยพื้นเมือง สืบทอดวัฒนธรรมภาษามาจากบรรพบุรุษกูยอาเจียง (คนเลี้ยงช้าง) เป็นเสน่ห์ทางภาษาในการสื่อสารกันในชุมชน รวมถึงสื่อสารกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่สามารถพูดภาษากูยพื้นเมืองได้ เช่น คำว่า "ฮาย มัก ม็อง แปลว่า ฉันรักคุณ” / คำว่า "ฮาย โจ แลว ซะโร๊ะหนองบัว แปลว่า ฉันมาแล้วบ้านหนองบัว” และมีเพลงที่ร้องเล่นกันในชุมชน เช่น "เจ่าจาโดยเยอ เจ่าจาโดยเยอ บัดแอมแอม บัดแอมแอม จากาทูนากาเหยาะ จากาทูนากาเหยาะแอม แอ่ม แอม...แอม แอ่ม แอม” แปลว่า "มากินข้าว มากินข้าว แกงอร่อย กินปลาทูกับปลาร้า กินปลาทูกับปลาร้า อร่อย อร่อย อร่อย" เป็นต้น และมีภาษากลาง คือ ภาษาไทย ใช้สำหรับการติดต่อราชการและสื่อสารทั่วไปกับผู้ที่มาเยือน

๒.๓ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีการแสดงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ดังนี้

๒.๓.๑ การรำมุดมัด หรือ รำแกลมอ เป็นภาษากูย หรือภาษาไทย เรียกว่า "รำแม่มด" พิธีกรรมนี้เชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในการรักษาโรคจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือคนในครอบครัวไม่สบายจะต้องทำพิธีรำมุดมัด หรือ รำแกลมอ เพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยและเป็นการแก้บนโดยอาศัยพลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ การรำมุดมัด หรือ รำแกลมอใช้เครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น กลอง ฆ้อง ซอ แคน ฯลฯ บรรเลงดนตรีสดประกอบขณะทำพิธี

๒.๓.๒ การรำคล้องช้าง เป็นการแสดงที่เลียนแบบพฤติกรรม อิริยาบถต่างๆ ของช้าง มาประดิษฐ์เป็นท่ารำที่อ่อนช้อยงดงามและแข็งแกร่งเหมือนช้าง เช่น ท่าช้างเดิน ท่าช้างคว้ากิ่งไม้ ท่าช้างสลัดแมลงหรือสิ่งสกปรกออกจากตัว ท่าช้างคว้าหญ้า ท่าช้างเล่นน้ำและพ่นน้ำใส่ตัว ท่าช้างหยอกล้อและเกี้ยวพาราสี ท่าช้างเดินตั้งวง มีหมอช้างเข้ามาคล้องช้าง และรำบ่ายศรีสู่ขวัญช้างที่คล้องมาใหม่

๒.๔ เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว ถือว่ามีการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองกูยที่มีอัตลักษณ์ ดังนี้

๒.๔.๑ เครื่องแต่งกายผู้หญิง ประกอบไปด้วย เสื้อสีดำ ตัดเย็บจากผ้าไหมลายลูกแก้ว ย้อมมะเกลือสีจากธรรมชาติ ขลิบตกแต่งเล็กน้อยด้วยผ้าสีแดงให้สวยงามตามรอยตะเข็บเสื้อ ในส่วนของผ้าถุงมีสีแดงเข้ม ตัดเย็บจากผ้าไหมโฮลต่อเชิง และมีผ้าสไบพาดบ่าสีแดง

๒.๔.๒ เครื่องแต่งกายผู้ชาย เสื้อสีดำ ตัดเย็บจากผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้านุ่งของผู้ชายเป็นผ้าไหมโสร่ง หรือ ผ้าไหมหางกระรอกนุ่งโจงกระเบน มีผ้าขาวม้าคาดเอว

๒.๕ เทศกาล และ ประเพณีท้องถิ่น
ปฏิทินประจำปีเทศกาล และ ประเพณีท้องถิ่นชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว ดังนี้

มกราคม ตักบาตรบนหลังช้าง
กุมภาพันธ์ จดทะเบียนสมรสและแต่งงานบนหลังช้าง (ซัตเต)
มีนาคม เทศกาลไหว้ครูปะกำช้างประจำปี บุญบารมีอาเจียง (ในงานบุญช้างไทย)
เมษายน สงกรานต์วิถีชาวกูย
พฤษภาคม บวชนาคช้าง เป็นการบวชของผู้ชายในหมู่บ้านมีขั้นตอนการทำพิธีที่แตกต่างจากการบวชทั่วไป
ตุลาคม ทอดกฐินช้าง โซ๊ด–ซั๊ด-เจียง (เส้นไหมผูกช้าง) ซึ่งมีช้างเข้าร่วมขบวนจำนวนมาก
พฤศจิกายน พิธีกรรม "ปะชิ-ปะซะ" เป็นการบวชหมอช้าง เพื่อเลื่อนลำดับตำแหน่งหมอช้าง
ธันวาคม สวดมนต์ข้ามปีวิถีชาวกูย

๒.๖ กีฬาและการละเล่นท้องถิ่น
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีกีฬาและการละเล่นท้องถิ่นที่คนในชุมชนร่วมเล่นกับช้างและนักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้ เช่น ฟุตบอล ฮูลาฮูป ปาลูกโป่ง ชักเย่อ เป็นต้น ซึ่งมีการละเล่นทุกวัน ณ โลกของช้าง

๒.๗ อาหารท้องถิ่น
อาหารท้องถิ่นในชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว เป็นอาหารตามฤดูกาลที่สรรหาวัตถุดิบได้ในท้องถิ่นจากธรรมชาติ ผืนป่า แหล่งน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยชุมชนมีผืนป่าขนาดใหญ่ คือ ป่าทาม และมีวังทะลุ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นจุดบรรจบของลำน้ำสองสายไหลมารวมกัน คือ ลำนำชี และแม่น้ำมูล จึงทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ เพียงพอต่อการบริโภค และพร้อมต่อการบริการทางการท่องเที่ยว รายการอาหารที่จัดทำเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น ปลายอนสองแม่น้ำนึ่งจิ้มแจ่ว ปลาทอดสองสายพันธุ์ น้ำพริกมะดันผักสด แกงไก่บ้านใส่มดแดง ไข่เจียวช้าง ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สามสายพันธุ์ และข้าวต้มอันซอมห่อใบมะพร้าว ของหวานมันแซงกะทิสด ขนมอาโต เป็นต้น

๒.๘ ภูมิปัญญาด้านอื่น ๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้างบ้านเรือน สมุนไพร ฯลฯ
๒.๘.๑ ภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าไหม ย้อมสีผ้าไหมจากมูลช้าง และย้อมสีผ้าไหมจากธรรมชาติ โดย โรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดป่าอาเจียง
๒.๘.๒ ภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องประดับจากหางช้าง โดย นางวรรณา ศาลางาม
๒.๘.๓ ภูมิปัญญาการทำตะขอช้างมงคลปัดเป่ารังควาญออกจากชีวิต โดย นางวรรณา ศาลางาม
๒.๘.๔ ภูมิปัญญาสมุนไพรธรรมชาติบำบัดสุขภาพของช้างและสมุนไพรรักษาคน เช่น มะขามป้อม ต้นแต้ ต้นถ่อน หญ้าราบ หญ้าแห้วหมู หญ้าเจ้าชู้ เป็นต้น โดย พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร (เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง) นายอาน ศาลางาม / นางบุญ ศาลางาม / นางเมี๊ยะ ศาลางาม และนางเสาร์ อินสำราญ
๒.๘.๕ ภูมิปัญญาการทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้าง โดย นายสุรเดช ศาลางาม



๓. แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน

๓.๑ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ ศาสนสถาน ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิถีชีวิตชาวกูย โรงเรียนผู้สูงอายุ และบ้านช้างบ้านคน

๓.๑.๑ วัดป่าอาเจียง ศาสนสถานที่นับเป็นความภูมิใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่งที่ยังคงมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูยพื้นเมืองไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในการแสวงบุญ ปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นพุทธศาสถานในเชิงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ ภายในวัดป่าอาเจียง ประกอบไปด้วย สถานที่สำคัญที่ควรค่าต่อมาการท่องเที่ยวและเยี่ยมชม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศาลาเอราวัณ (เป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาและพราหมณ์) / ศาลประกำ (เป็นที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เกี่ยวกับการจับช้างคล้องช้าง) / พิพิธภัณฑ์ชาวกูย (เก็บรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาต่าง ๆ และเครื่องมือเครื่องใช้ของชนชาติพันธุ์ชาวกูย) / สุสานช้างขนาดใหญ่หนึ่งเดียวในโลก ที่มีการนำเอากระดูกช้างที่เสียชีวิตแล้วมาฝังไว้ที่นี่ และยังมีโรงเรียนผู้สูงอายุอีกด้วย

๓.๑.๒ ศูนย์การเรียนรู้มูลช้างสร้างมูลค่า ณ โครงการคชอาณาจักร ซึ่งมีการแปรรูปมูลช้างเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น กระถางจากมูลช้าง กระดาษสา สมุดบันทึก เป็นต้น

๓.๑.๓ บ้านช้างบ้านคนของกลุ่มชาติพันธุ์กูย สัญลักษณ์การพึ่งพาอาศัยกันที่สุรินทร์ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา ศิลปินศิลปาธรผู้ออกแบบ ได้นำบ้านของชาวกูยและบ้านของช้างมาผสมกันเป็นโครงสร้างเดียว แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างในหมู่บ้านชาวกูย จังหวัดสุรินทร์ โครงสร้างผลงานมี 2 ส่วน หลังคาทรงจั่วหลังเตี้ยเป็นบ้านคน ส่วนที่เป็นหลังคาเสาเดี่ยวเป็นบ้านช้าง

๓.๒ พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๓.๒.๑ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มดินจากมูลช้างบ้านหนองบัว สนับสนุนโดยสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๓ กรมพัฒนาที่ดิน

๓.๒.๒ ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรรักษาคนและช้าง โดยมีกลุ่มปราชญ์ในชุมชน ได้แก่ พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร (เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง) นายอาน ศาลางาม / นางบุญ ศาลางาม / นางเมี๊ยะ ศาลางาม และนางเสาร์ อินสำราญ

๓.๒.๓ ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโครงการคชอาณาจักร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ เน้นความเป็นอยู่บนพื้นฐานหมู่บ้านช้างเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ เกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ ความมั่งคั่งของอาหารช้าง เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3,000 ไร่ เป็นโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

๓.๓ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แก่ สวนเกษตรอินทรีย์ สวนเกษตรผสมผสาน และไร่นาอินทรีย์

๓.๓.๑ สวนเกษตรเกษตรอินทรีย์พอเพียงแบบผสมผสาน ของ นายธวัชชัย ศาลางาม อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัว ที่มีการปลูกพืชผักหลายอย่างสำหรับรับประทานในครัวเรือนและแบ่งขาย เช่น อ้อยคั้นน้ำ ฝรั่ง ผักสวนครัว และเลี้ยงปลา เป็นต้น

๓.๓.๒ โคกหนองนาโมเดล ของนายประชิต บุญเหลือ เป็นพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ ผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่แก่ประชาชนในชุมชนและผู้ที่สนใจทั่วไป

๓.๓.๓ ไร่นาอินทรีย์ต้นแบบของนายสุรเดช ศาลางาม บนพื้นที่จำนวน ๕ ไร่ ที่มีปลูกพริก เลี้ยงปลา กบ ไก่ และหมู

๓.๔ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ เส้นทางท่องไพรไปกับคชสาร Elephant Kingdom Jungle Camping และวังทะลุ (จุดบรรจบของแม่น้ำสองสาย คือ ลำน้ำชี และแม่น้ำมูล)

๓.๔.๑ เส้นทางท่องไพรไปกับคชสารในผืนป่าดงภูดิน

๓.๔.๒ Elephant Kingdom Jungle Camping เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีพื้นที่ทางธรรมชาติที่เหมาะกับการมาพักผ่อนในรูปแบบการกางเต็นท์นอนดื่มด่ำธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของลำน้ำชี และสัมผัสประสบการณ์การดูดาวทางช้างเผือก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เช่น ป้อนอาหารช้าง อาบน้ำช้าง ถ่ายรูปกับช้าง พายเรือพื้นบ้าน เป็นต้น

๓.๔.๓ วังทะลุ เป็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำมูล กับ ลำน้ำชี ในเขตพื้นที่ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และเป็นจุดชมวิวทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน และสามารถมาชมช้างอาบน้ำได้อีกด้วย



๔. กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยว

๔.๑ มีการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมโดยเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เช่น การทำบุญตักบาตร
การทำอาหารพื้นบ้าน งานหัตถกรรม การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน เทศกาล และวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่าง ดังนี้

๔.๑.๑ การทำบุญตักบาตรกับช้าง เป็นกิจกรรมสุดพิเศษที่สามารถจัดไว้ต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวและพักแรมในชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

๔.๑.๒ การทำอาหารพื้นบ้าน ได้จัดเตรียมเป็นกิจกรรม Work-Shop อีกหนึ่งทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้ ทำกิจกรรมการเรียนรู้วิถีพื้นบ้าน เช่น การเก็บผักสวนครัวในบ้านมาทำอาหารรับประทานกันเอง และเมนูยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในการทำกิจกรรม Work-Shop คือ การห่อข้าวต้มอันซอมด้วยใบมะพร้าว

๔.๑.๓ งานหัตถกรรม ได้จัดเตรียมเป็นกิจกรรม Work-Shop เช่น การทำกระถางจากมูลช้าง การทำแหวนหางช้าง การทำปูนปั้นช้าง ต่างหูผ้าไหม การทำสไน หรือ เสนงเกล และการทำกระดาษสาจากมูลช้าง

๔.๑.๔ การแสดงพื้นบ้าน เช่น รำคล้องช้าง รำมุดมัดหรือแกลมอ และการขับร้องเพลงพื้นถิ่นชาวกูย

๔.๑.๕ การเรียนรู้อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การทอผ้าไหม การทำปูนปั้นประดับตกแต่ง การทำกระถาง เป็นต้น

๔.๑.๖ ประเพณีบวชนาคช้าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเอกลักษณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจเป็นประเพณีที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี และถูกส่งเสริมให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดสุรินทร์ จัดขึ้นช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี และได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมยกระดับไปสู่ระดับชาติ ในปี ๒๕๖๕

๔.๒ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อออฟไลน์ จุดเช็คอิน และจุดถ่ายภาพ อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่าง ดังนี้

๔.๒.๑ สื่อออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ควัดป่าอาเจียง / เพจเฟซบุ๊คการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานสุรินทร์) / เที่ยวชุมชนยลวิถีจังหวัดสุรินทร์ / หนองบัวโฮมสเตย์ / เพจเฟซบุ๊คประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ /
เพจเฟซบุ๊ค Wannana Salangam / ช่องยูทูป Elephant V T S เป็นต้น

๔.๒.๒ สื่อออฟไลน์ เช่น หนังสือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีสุรินทร์ โปสเตอร์ แผ่นพับ เป็นต้น

๔.๒.๓ จุดเช็คอิน เช่น ฉากถ่ายภาพทางเข้าหมู่บ้าน วังทะลุ หอคอยชมช้าง เป็นต้น

๔.๒.๔ จุดถ่ายภาพ เช่น สุสานช้าง ลานแสดงช้าง วงเวียนพระคูประกำ ต้นก้ามปู ศาลาเอราวัณ วังทะลุ เป็นต้น

๔.๓ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
ชุมชนมีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัด เช่น บ้านท่าสว่าง เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหมแห่งเดียวของประเทศ เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าไหมโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยเทคนิคการทอผ้ายกทองแบบโบราณผสานกับลวดลายที่วิจิตรงดงาม ระยะห่างจากชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว 44 กิโลเมตร


๔.๔ มีที่พักในรูปแบบโฮมลอร์ด โฮมสเตย์ รีสอร์ท และร้านอาหารในท้องถิ่น ดังนี้

๔.๔.๑ โฮมลอร์ด จำนวน ๗ หลัง ได้แก่ นางวรรณา ศาลางาม (ดุงวรรณา) / นางธิดารัตน์ สายสุวรรณ (ดุงธิดารัตน์) / นางปานขวัญ ศาลางาม (ดุงปานขวัญ) / นางพิมพ์นิภา เพชรกล้า / นางเหลือง ศาลางาม / นางรุ่งเรือง ศาลางาม /และ นายประชิต บุญเหลือ

๔.๔.๒ โฮมสเตย์บ้านตากลาง (เครือข่ายเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว พื้นที่ติดกับบ้านหนองบัว) จำนวน ๕ หลังคาเรือน สามารถรองรับนักท่องเที่ยว จำนวน ๓๐ คน

๔.๔.๓ ดุงไฮ โฮมสเตย์ ห้องพัก ๖ ห้อง สามารถรองรับนักท่องเที่ยว จำนวน ๑๒ คน และมีบริการ Extra-Bed และบ้านช้างรีสอร์ท ห้องพัก จำนวน ๑๑ ห้อง สามารถรองรับนักท่องเที่ยว จำนวน ๒๒ คน

๔.๔.๔ ร้านอาหาร พูนวิไล (เมนูอาหารยอดนิยม คือ ปลาจากแม่น้ำมูล) นอกจากนี้ยังมีร้านครัวบ้านสวน และร้านครัวริมน้ำ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนในชุมชน

๔.๔.๕ ร้านเครื่องดื่ม ได้แก่ ร้านข้าวฟ่าง ร้านดุงไฮ และร้านน้ำทิพย์

๔.๔.๖ ตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM) ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย

๔.๔.๗ รถรับ-ส่ง นักท่องเที่ยว ได้แก่ คันที่ ๑ คือ รถของนางวรรณา ศาลางาม / คันที่ ๒ คือ นายธวัชชัย ศาลางาม / คันที่ ๓ คือ นายประชิต บุญเหลือ / นายพร ผายสุวรรณ / นายกำพล น้อยถนอม นอกจากนี้ยังมีรถนำเที่ยวในชุมชน ได้แก่ รถอีแต๋นเพื่อการท่องเที่ยว และรถรางนำเที่ยว


๔.๕ มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ
ของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

๔.๕.๑ ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว มีความพร้อมด้านมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งเป็นมัคคุเทศก์น้อย จากโรงเรียนช้างบุญวิทยาที่ผ่านการอบรมจากกรมการท่องเที่ยว เยาวชนนักเล่าเรื่องในชุมชน และมีเครือข่ายมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มีบัตรมัคคุเทศก์อาชีพที่ได้รับการอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยว

๔.๖ มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และการบริการอื่น ๆ เช่น ป้ายบอกทาง แผนที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ มีพร้อมต่อการบริการนักท่องเที่ยว ดังนี้

๔.๖.๑ ป้ายบอกทาง / ป้ายสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว ไว้บริการนักท่องเที่ยว

๔.๖.๒ ห้องน้ำทั่วไป / ห้องน้ำสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ในบริเวณจุดท่องเที่ยวต่างๆ เช่น วัดป่าอาเจียง ศูนย์คชศึกษา โครงการคชอาณาจักร

๔.๖.๓ ที่จอดรถ / ลานจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว / ลานกางเต้นท์ริมลำน้ำชี ในพื้นที่โครงการคชอาณาจักร


๕. ด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน

๕.๑ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ได้แก่

๕.๑.๑ เสื้อผ้าไหมลายลูกแก้ว ย้อมมะเกลือสีจากธรรมชาติ และย้อมจากมูลช้าง ขลิบตกแต่งเล็กน้อยให้สวยงามตามรอยตะเข็บเสื้อ และผ้าไหมโฮลต่อเชิงเอกลักษณ์ของชาวกูย

๕.๑.๒ ช้างปูนปั้นที่ปั้นได้ตามคชลักษณ์มงคล ของกลุ่มวิสาหกิจประติมากรรมร่วมสมัยกวยอาเจียง การรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อสร้างงานประติมากรรมรูปปั้นช้าง จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ สร้างรายได้หลักแสนให้กับ คนในชุมชน

๕.๒ มีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

๕.๒.๑ ตะขอช้าง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ถึงอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุม คชกุศ ขอช้าง ขอสับช้าง หรือตะขอช้าง เป็นของมงคลหาได้ยากและมีอานุภาพสูง โภคทรัพย์ จึงนำความเชื่อของคนในชุมชนมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

๕.๒.๒ แหวนหางช้าง เป็นเครื่องประดับและเป็นเครื่องรางของขลัง ที่ทำจากหางช้าง สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง ทุกเพศทุกวัย โบราณเชื่อกันว่า ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ป้องกันอาถรรพ์คุณไสย์

๕.๒.๓ ตะขอช้างมงคลใส่กรอบที่ทำจากมูลช้าง เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมจากตะขอช้าง โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

๕.๓ ชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม

๕.๓.๑ ร้านจำหน่ายทางวัฒนธรรม โดยชมรมผู้สูงอายุ ณ วัดป่าอาเจียง โดยได้รับการสนับสนุนจาก พระครู ดร.สมุห์หาญ ปัญญาธโร เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายในชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย ได้แก่ ผ้าไหม ตะขอ กระถาง พวงกุญแจ แหวนจากหางช้าง สบู่โปรตีนจากรังไหม ตุ๊กตาช้าง ฯลฯ

๕.๓.๒ ร้านวรรณา & สายฟ้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ได้แก่ เสื้อยืดเอกลักษณ์ชาวกูย ชุดผ้าไหมชาวกูย ตะขอ พวงกุญแจ แหวนจากหางช้าง เครื่องรางของขลัง ฯลฯ

๕.๔ ชุมชนมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้การสาธิต / Workshop ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ใน ๒ รูปแบบ คือ

๕.๔.๑ คณะนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับชุมชน เช่น การเรียนรู้ การสาธิต Workshop การทำแหวนจากหางช้าง การทำตะขอ การทำกระดาษสา การทำกระถางจากมูลช้าง การกวักผ้า การมัดหมี่ย้อมผ้าไหมด้วยมูลช้างและสีธรรมชาติ เป็นต้น

๕.๔.๒ กลุ่มสมาชิกในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมกับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เช่น จัดการประชุมระดมความคิดเห็นและเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ของเครือข่ายวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "คชศาสตร์ชาวกูย” ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่ายทางวัฒนธรรม


๕.๕ ชุมชนมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ Online และ Onsite

๕.๕.๑ การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบออนไลน์ (Online) ผ่านช่องทางเฟซบุ๊คส์ หนองบัวโฮมสเตย์ / การ Live สดขายผลิตภัณฑ์แหวนหางช้างของแท้จังหวัดสุรินทร์และโพสต์ขายอย่างต่อเนื่อง / และการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องยูทูป Elephant V T S เป็นต้น

๕.๕.๒ การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบออนไซต์ (Onsite) เช่น การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เช่น สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ ได้แก่ มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ (ในทุก ๆ ปี) / OTOP นวัตวิถี ณ เมืองทองธานี / ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี ปี 2564 / OTOP Mid-Year ณ เมืองทองธานี / งานไทยเที่ยวไทย ณ สวนลุมพินี / งานเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก ณ อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานี / งาน 100 สุดยอดชุมชน ณ กระทรวงวัฒนธรรม
 












แชร์


Facebook share Twitter share LINE share